หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน  แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองภูเก็ต
Featured People

หมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนน แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองภูเก็ต

ท่ามกลางการพัฒนาของสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างเช่นจังหวัดภูเก็ต วึ่งเป็นเมื่อที่ขึ้นชื่อเรื่องการท่องเที่ยวและติดอันดับต้นๆของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆทั้งทางธรรมชาติอย่างเช่นทะเล ภูเขา น้ำตก หรือจะเป็นสถานบันเทิงที่พัฒนาไปตามยุคสมัย แต่สักกี่คนที่จะรู้ว่าในเมืองที่เต็มไปด้วยปแหล่งท่องเที่ยวแสง สี เสียง ยังคงมีหมู่บ้านเล็กๆหมู่บ้านหนึ่งที่ยังคงความเป็นอดีตมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีการทำนุบำรุงรักษาไว้อย่างดีทั้งได้ด้านการอยู่อาศัย ความคิดและวัฒนธรรม หลายๆคนคงเคยได้ยินและรู้จัก แต่อีกลหายคนก็ยังไม่รู้จักและไม่เคยได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตเหล่านี้

ว่าที่ร้อยตรี ไตรบัญญัติ จริยะเลอพงษ์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง
ว่าที่ร้อยตรี ไตรบัญญัติ จริยะเลอพงษ์
ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง

วันนี้ทาง Phuketindex ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมหมู่บ้านวัฒธรรมถลางบ้านแขนน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเราได้พบกับ ว่าที่ร้อยตรี ไตรบัญญัติ จริยะเลอพงษ์ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต โดยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางแห่งนี้ และยังเป็นประธานโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านแขนน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งท่านเคยดำรงตำแหน่ง หัวหน้างานนโยบายและแผนงาน สำนักงานอำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ การวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต เขตอำเภอถลาง 2 สมัย ปี พ.ศ. 2534-2538 กรรมการนโยบายและวิชาการพรรคประชาชน รองประธานสภาจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.2538-2540 กรรมการมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร กรรมการและรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางให้เราได้ทราบดังนี้

PKI_7188

ความเป็นมาของหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง

“ในปี 2537 ขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะฟื้นฟูพื้นที่วัดร้าง (วัดแขนน) ที่ร้างไป 150 ปี มีเนื้อที่ประมาน 4 ไร่ ในวัดร้างมีกองสถูปเจดีย์อยู่ 2 องค์ และค้นพบเมื่อสร้างวัดได้เพิ่มอีกองค์ เป็น 3 องค์ ชาวบ้านเคารพมาตั้งแต่โบราณ หากใครสร้างบ้าน บวช แต่งงาน ต้องไปกราบไหว้ขอพร จึงคิดจะบูรณะจากสภาพที่เหลือ จึงได้เริ่มต้นสร้างศาลากลางบ้านขนาดใหญ่ ช่วยกันสร้าง 7 เดือน ระหว่างสร้างคนมาอยู่ช่วยวันละนับร้อยคน ต้องไปหาพืชผักตามป่า สวน เอามาเป็นวัตถุดิบทำอาหาร ฝ่ายหญิงทำอาหารเลี้ยงคน จึงทำให้เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมอาหารในทุกๆด้าน

หลังจากการสร้างวัดเสร็จสมบูรณ์ กรมศาสนาขอให้มีเจ้าอาวาส เมื่อมีเจ้าอาวาสดูแล ที่ ๆ เคยอยู่ทำงานกันมา 7 ปี ต้องมอบให้เจ้าอาวาสดูแล ที่ที่เคยชุมนุมต้องสงบ เพื่อให้พระทำกิจของสงฆ์ เลยต้องหาที่อยู่ใหม่ เสียงส่วนใหญ่ให้สร้างใหม่บนพื้นที่สวนยาง 6 ไร่ซึ่งปัจจุบันมี12 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่ของผมเอง ไว้ใช้ในการรวมคน ทำกิจกรรมสนับสนุนวัด หมู่บ้าน โรงเรียน ในช่วงที่สร้างวัด โรงเรียน สถานศึกษากำหนดให้เด็กนักเรียน นักศึกษา เรียนเรื่องภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงพาไปศึกษาที่วัด และเมื่อย้ายมาที่หมู่บ้านวัฒนธรรมถลางแห่งนี้ โรงเรียน สถาบันต่างๆก็ตามมาเรียนที่หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ทัวร์ที่ผ่านจากอุทยานน้ำตกโตนไทรผ่านหมู่บ้านเห็นคนชุมนุมกันมาก ก็ขอแวะมาดู มาชมมาใช้บริการ จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในที่สุด หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องการพัฒนาบุคลากรมีกำหนดมาภูเก็ตดูงาน หาแหล่งดูงานยากที่เป็นรูปธรรมดูแล้วเกิดประโยชน์ ก็มาใช้บริการ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน มีสื่อต่างๆมีการบอกเล่าปากต่อปาก จนเกิดการเผยแพร่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและเป็นที่รู้จัก”

DSC_7064

สำหรับหน้าที่ของหลักๆของหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง บ้านแขนนแห่งนี้ ได้แก่

  • เป็นแหล่งเรียนรู้สอนวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมถลาง, วัฒนธรรมสมัยท้าวเทพกษัตรี – ท้าวศรีสุนทร
  • เป็นแหล่งศึกษาดูงานทางด้านวัฒนธรรม วิถีชุมชน ทั้งเรื่องอาชีพ หัตถกรรม การแสดง อาหารพื้นเมือง ของว่างพื้นเมือง ขนมโบราณ
  • เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต
  • เป็นแหล่งศึกษาดูงานเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เก็บผักป่า พืชสมุนไพรไว้กิน เหลือไว้ขาย ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ไว้แบ่งปันใช้ในครอบครัวเหลือจำหน่ายเสริมรายได้ นำผักพื้นบ้านพืชสมุนไพรพื้นเมืองมาปรุงเป็นอาหาร กินเป็นอาหาร กินเป็นยา กินเป็นภูมิคุ้มกัน
  • เป็นแหล่งดูการจัดการกิจกรรมการลงแขกโบราณ จิตอาสา อยู่ร่วมกันเป็นเครือญาติ ร่วมกันทำงานแบ่งปันผลประโยชน์ แบ่งรายได้ สร้างงาน สร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
การละเล่นสะบ้า
การละเล่นสะบ้า

กิจกรรมต่างๆของหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง

ปัจจุบัน หมู่บ้านวัฒนธรรมถลางบ้านแขนนได้จัดเป็นสถานที่เรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรม โดยจัดเป็นรูปแบบของฐานการเรียนรู้ที่เหมาะแก่การมาเที่ยวมาศึกษาเป็นหมู่คณะ

  • ฐานแรกจะเป็นฐานความรู้ มีการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน มีการแสดงรำโนราโชว์ศิลปะเอกลักษณ์ ของภาคใต้ และมีการสอนโดยประยุกต์ระหว่างการเต้นแอโรบิคกับโนราห์ เรียกว่า “โนราบิก” เพื่อให้ผู้ที่ฝึกไม่รู้สึกว่ายากเกินไป
  • ต่อจากนั้นก็เป็นการปฎิบัติกิจกรรมตามฐานต่างๆ ฐานปรุงอาหาร โดยเน้นเรื่องการปรุงอาหารโดยใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เริ่มตั้งแต่ การทำเกลือเคย การทำน้ำพริกหยำที่นำเอาสมุนไพรมาขยำรวมกันกับกุ้งสด ต้มส้มที่ใส่ส้มควาย รสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็ม
  • ส่วนฐานขนมจะมีทั้งหมด 3 ฐาน ได้แก่ ขนมโค ที่เป็นขนมพื้นเมือง ขนมครกโบราณ การการทำข้าวหลามสูตรดั้งเดิม โดยแต่ละฐานจะได้ทำจริงกินจริง
  • นอกจากนี้ยังมีบ้านแบบโบราณที่ทำจากไม้ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ให้ได้เข้าชมกันอีกด้วย
  • ส่วนการละเล่นก็เป็นสะบ้า
  • งานประดิษฐ์ของเล่นที่ทำจากใบมะพร้าว สานเป็นรูปปลารูปสัตว์ต่างๆ รวมถึง การตำข้าวแบบคนสมัยก่อน
  • เมื่อหมดครบทุกฐานก็จะถึงเวลาพัก ก็จะให้นั่งล้อมวงกันวงละ 9 คน และใช้วิธีนับ 1-9 เป็นการนับแบบทหารโดยคนที่1จะต้องเสียสละไปหยิบจานและคนต่อไปก็ไปหยิบข้าว ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นการจัดการให้เป็นระบบแบบโบราณ เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรม
ฐานเรียนรู้การทำขนมครกแบบโบราณ
ฐานเรียนรู้การทำขนมครกแบบโบราณ

“ผมก็อยากจะขอขอบคุณทุกๆท่าน อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานต่างๆที่ให้ความสนใจกับหมู่บ้านวัฒนธรรมถลางแห่งนี้ พร้อมทั้งการมาศึกษาการมาเยี่ยมเยือนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยก่อนและผมก็อยากจะอนุรักษณ์ไว้ให้หมู่บ้านวัฒนธรรมถลางแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ได้มาเรียนรู้ในโอกาสต่อๆไป “

หมู่บ้านวัฒนธรรม บ้านแขนน ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา วันนี้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิต สำหรับใครที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาและสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่และศึกษาเรื่องราวต่างๆได้แต่ต้องโทร.มาจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์  ตามหมายเลขโทรศัพท์ 086-6821371 , 081-89568674

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.