ภูเก็ต ซิตี้ ออฟ แกสโตรโนมี (Phuket: City of Gastronomy)
Arts & Culture Featured

ภูเก็ต ซิตี้ ออฟ แกสโตรโนมี (Phuket: City of Gastronomy)

ปลายปี 2558 ภูเก็ตได้รับข่าวดี เป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวภูเก็ต ด้วยการได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร จากยูเนสโก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 เมืองทั่วโลก และภูเก็ตเป็นเมืองแรกของไทยและของอาเซียน ที่ได้รับการยกย่องนี้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้แก่ชาวภูเก็ตเป็นอย่างยิ่ง เบื้องหลังความสำเร็จนี้ มีนายแพทย์โกศล แตงอุทัย เป็น 1 ในทีมงาน ที่จัดทำโครงการวิจัยนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการต่อยูเนสโก

นายแพทย์โกศล แตงอุทัย
“ผมเป็นสูตินารีแพทย์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสมาคมเพอนารากัน และยังเป็นผู้ประสานงานให้แก่ยูเนสโก ในเครือข่ายของ City of Gastronomy”

เริ่มเข้ามาทำงานเกี่ยวกับงานด้านวัฒนธรรมภูเก็ตได้อย่างไร มีบทบาทอย่างไร
“ผมเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งในขณะนั้น คือ คุณอัญชลี วานิช เทพบุตร เมื่อ พ.ศ. 2547 หลังจากนั้น ได้รับการชักชวนจากอาจารย์ปราณี สกุลพิพัฒน์ ให้มาร่วมทำงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเพอนารากัน โดยตอนนั้นก็ได้เป็นตัวแทนจาก อบจ.ภูเก็ต ไปประชุมกับทางสมาคมเพอนารากันที่มะละกา และก็ได้ประสานงานด้านนี้มาโดยตลอด ที่จริงแล้วสมาคมเพอนารากันมีอยู่ทั่วโลก และภูเก็ตก็เป็นหนึ่งใน 15 สมาคมใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ โดยเริ่มก่อตั้งสมาคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 นากจากนี้ ยังได้มีการเดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีละครั้ง ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี แต่ระหว่างนั้นก็มีการจัดงานแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาคมกันอยู่เรื่อยๆ บทบาทที่สำคัญคือ เป็นคนประสานงานให้จังหวัดภูเก็ตได้เข้าร่วมเป็น City of Gastronomy ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยมีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่ร่วมผลักดัน และเราก็ยังคงพยายามให้ภูเก็ตได้เข้าร่วมเป็น City of Gastronomy อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2558 จังหวัดภูเก็ตก็ได้รับการรับรองให้เป็น City of Gastronomy จาก ยูเนสโก”

City of Gastronomy คืออะไร
“ยูเนสโก คือองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของโลก และจะเกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์อีกด้วย ซึ่งยูเนสโก จะมีโครงการในการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม ซึ่งโครงการหลักก็คือการเป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage List) ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาคาร ภูมิทัศน์ โบราณสถานสำคัญต่างๆ เป็นกลุ่มงานที่สามารถจับต้องได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีโครงการในการผลักดันเกี่ยวกับวัฒนธรรมแบบจับต้องไม่ได้ (Intangible Culture) คือCreative City ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท เช่น City of Film (เมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์) City of Music (เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี) City of Literature (เมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม) City of Design (เมืองแห่งการออกแบบ) City of Crafts and Folk Arts (เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะท้องถิ่น) City of Media art (เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์) และหนึ่งในนั้นคือ City of Gastronomy ซึ่ง คำว่า Gastronomy ไม่มีความหมายเป็นภาษาไทย เราจึงได้ให้ความหมายไปว่า เมืองที่เกี่ยวกับวิทยาการด้านอาหาร ซึ่งยูเนสโกจะให้ความสำคัญทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม (Authentic) และสิ่งใหม่ ๆ ที่พัฒนาเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่เดิม (Creative) โดยแต่เดิมนั้นจะเน้นหนักไปทางการอนุรักษ์ แต่ปัจจุบันยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงการนี้ถือเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อเราจะพูดถึงเรื่องอาหาร ก็ต้องมีทั้งอาหารแบบดั้งเดิม และอาหารสร้างสรรค์แนวใหม่ ดังนั้นจึงต้องมาไล่เรียงกันตั้งแต่วัตถุดิบตามห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบแปรรูป วัตถุดิบที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารที่ปรุงพร้อมเสิร์ฟ ไปจนถึงการส่งออกอาหาร ซึ่งเป็นวงจรที่ใหญ่มาก”

ขั้นตอนในการทำโครงการนำเสนอ Phuket – City of Gastronomy
“แรก ๆ เราก็ยังไม่เข้าใจว่าจะนำเสนออย่างไรดี และในขั้นตอนการสมัคร จะใช้วิธีสมัครผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ ซึ่งในแต่ละคำถามก็จะมีการจำกัดจำนวนตัวอักษร แต่เรามีข้อมูลเยอะ ซึ่งจำเป็นต้องเอามาบีบอัด และเลือกเอาสาระหลักเท่านั้น ซึ่งเราได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ และคณะ รวมถึงอาจารย์พรทิพย์ กาญจนนิยต ซึ่งเป็นคณะจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยการคัดกรองการเขียนใบสมัคร และเป็นผู้ช่วยประสานงานกับยูเนสโก และเรายังได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยลัยราชภัฏภูเก็ต ในการแปลเนื้อหาในการกรอกใบสมัคร
หลังจากนั้นก็ต้องคัดเลือกรูป 3 รูป ที่สามารถสื่อถึงภูเก็ต ซึ่งเราไม่ได้นำเสนอเมนูอาหารแค่เมนูใดเมนูหนึ่ง เราจึงส่งรูปวิวของภูเก็ต เพราะคิดว่าเมื่อชาวต่างชาติมาภูเก็ต ก็มักจะนึกถึงความเป็นเกาะที่สวยงาม อีกรูปคือรูปอาหารพื้นเมืองภูเก็ตรวมกันหลายๆ อย่าง และรูปสุดท้ายคือ รูปเกี่ยวกับความผูกพันในครอบครัว เป็นรูปคุณยายสอนหลานทำขนม ซึ่งเป็นรูปชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายชิงถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ที่จัดโดยสมาคมเพอนารากัน ทั้งหมดคือคอนเซ็ปต์ของ Gastronomy แบบภูเก็ต คือ Good Food, Good Health and Good Spirit ซึ่งคำว่า spirit ในที่นี้ หมายถึงความเชื่อหรือค่านิยมที่มาจากครอบครัวและชุมชน ที่สามารถส่งต่อให้กัน เพราะคนภูเก็ตเองถือว่าเรื่องกินคือเรื่องใหญ่ เป็น Way of Life ดังนั้น Gastronomy แบบคนภูเก็ตจึงไม่ได้มีแค่อาหารเมนูเด่นๆ หรือใช้วัตถุดิบอะไร แต่รวมไปถึง พื้นฐานทางครอบครัวและองค์ความรู้ของเชฟ ที่สามารถปรุงอาหารออกมาได้อร่อย มันจึงการพูดถึงวิถีชีวิตของคนภูเก็ต มากกว่าแค่พูดถึงเรื่องอาหารเมนูใดเมนูหนึ่งเพียงอย่างเดียว

หลายๆ เมืองไม่สามารถผ่านเกณฑ์ได้ เพราะใบสมัครไม่ผ่านเกณฑ์ แต่บางเมืองก็ไม่ผ่านหลังจากที่ยูเนสโกเข้ามาตรวจเมืองแล้ว โดยเป็นการตรวจแบบไม่ให้รู้ตัว ซึ่งตอนที่มาตรวจภูเก็ต เราเองก็ไม่ทราบเลยว่ามีผู้แทนของยูเนสโกเข้ามาสำรวจเมือง และเท่าที่ทราบมา ในปีพ.ศ.2558 มีเมืองที่เข้าสมัครกว่า 10 ประเทศ แต่ได้รับการรับรองเพียงแค่ 5 ประเทศเท่านั้น ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้รับการรับรอง เช่นเดียวกับเมืองพาร์มา จากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมการทำแฮมและชีส เมืองที่ได้รับการประกาศให้เป็น City of Gastronomy มีเพียง18 เมืองเท่านั้น ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจสำหรับจังหวัดภูเก็ต”

ข้อดีของ Phuket ในการเป็น City of Gastronomy
“ข้อดีมากๆ อันดับแรกคือ คนทั่วโลกได้รู้จักภูเก็ตในอีกมุมมองหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็นเกาะหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามเท่านั้น ทำให้ภูเก็ตเป็นมากกว่า World Destination ต่อไปผู้คนจะรู้จักภูเก็ตในนาม City of Gastronomy ซึ่งเป็นชื่อที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวภูเก็ต

สองคือ สามารถนำสิ่งนี้ มาต่อยอดเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรายังสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทางด้านอาหาร เพราะผมคิดว่าเรื่องกินเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าหากเด็กๆ สามารถหาตัวตนของตัวเองด้านนี้เจอ ก็สามารถต่อยอดไปได้ เพราะธุรกิจด้านอาหารยังสามารถเติบโตไปได้อีก เพราะฉะนั้นในอนาคต จังหวัดภูเก็ตอาจจะมีจุดเด่นทั้งสองทาง คือด้านการท่องเที่ยวและด้านอาหารเพิ่มขึ้น


การได้รับการประกาศว่าเป็น City of Gastronomy ไม่ใช่เป็นประกาศแบบทีเดียวแล้วเป็นตลอดไป จะต้องมีการประเมินทุกๆ 4 ปี โดยดูว่าเรามีกิจกรรมที่สนับสนุนการเป็น City of Gastronomy มากน้อยแค่ไหน และไม่ใช่ว่าเราจะพัฒนาแต่ตัวเองเท่านั้น ยูเนสโกจะดูว่าเราสามารถพัฒนาและสนับสนุนเมืองอื่นๆ อีกทั้ง 18 เมืองในเครือข่ายเดียวกันนี้ได้ด้วยหรือไม่ เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเมื่อประเทศอื่นๆ เป็นเจ้าภาพ และต้องเชิญประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วมประชุมกับเราด้วย เป็นต้น อย่างล่าสุดที่เราได้จัดงาน Phuket Gastronomy Symposium ที่โรงแรมแมริออท เมอร์ลิน บีช หาดไตรตัง ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ และสานสัมพันธ์กับกลุ่มคนในเครือข่าย ซึ่งประเทศสมาชิกก็ประทับใจกับการจัดงานของเรามาก”

อนาคตของ Phuket City of Gastronomy ต่อจากนี้
“ทิศทางในการพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับผมแค่คนเดียว ขึ้นอยู่กับคนภูเก็ต ผู้นำของภูเก็ต ส่วนราชการและเอกชน ซึ่งตอนนี้ทางจังหวัดก็กำลังผลักดันให้มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับความเป็น City of Gastronomy สนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นห้องอาหารของโลก แต่เราต้องมีการวางแผนและวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน เพราะนี่ไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์ จัดงาน แล้วก็จบไป แต่ต้องมาคิดว่า การเป็น Gastronomy จะสามารถส่งเสริมให้พลเมืองชาวภูเก็ตอยู่ดีกินดีได้อย่างไร เพราะการรับรองนี้จะส่งผลต่อผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านริมถนน ร้านอาหารในห้าง หรือแม้แต่บริการจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำงบพัฒนาจังหวัด กระจายลงไปสู่กลุ่มคนเหล่านี้ หรือทำอย่างไรให้กลุ่มเอกชนรายใหญ่มีส่วนสนับสนุนภาคประชาชนได้ทั่วถึง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ (4S) ในการควบคุมดูแลให้เราเป็น City of Gastronomy คือ
– อาหารปลอดภัย (Food Safety) ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากอากาศที่ร้อนชื้น สามารถทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย จึงต้องดูแลตรงนี้เป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองมาตรฐานในระดับสากล แต่ก็ยังมีหลาย ๆ ร้านที่ไม่มีการรับรองใด ๆ เลย

– ความพึงพอใจในรสชาติอาหาร (Food Satisfaction) ซึ่งรสชาติในที่นี้ สามารถแบ่งออกเป็นรสชาติดั้งเดิม (Authentic) และรสชาติที่มีการดัดแปลง (Fusion) ซึ่งปัญหาที่พบ คือร้านอาหารหลายๆ ร้าน ไม่สามารถควบคุมรสชาติอาหารได้ ยิ่งนานอาหารยิ่งเพี้ยนไปจากรสชาติดั้งเดิม เราจึงต้องค้นหาตัวตนของรสชาติดั้งเดิมให้เจอ
– การบริการ (Service) เพราะการบริการเปรียบเหมือนฝ่ายต้อนรับ การบริการจึงต้องใช้บุคลากรที่มีใจรักในงานบริการ แต่การบริการที่ดีก็ไม่ได้มาจากตัวพนักงานบริการเพียงอย่างเดียว แต่ยังสืบเนื่องมาตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ที่มีแบบอย่างในการทำงานที่ดี หากองค์กรคัดเลือกผู้ที่มีใจรักงานบริการมาทำงาน การบริการก็จะไม่มีปัญหา รวมไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ก็ต้องได้มาตรฐาน เช่นที่วางจาน อุปกรณ์ทำครัว ที่ล้างจาน เป็นต้น
– ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยูเนสโกคาดหวังเป็นพิเศษ คือไม่ใช่แค่คนอยู่ได้เท่านั้น แต่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ได้ด้วย เช่นไม่กินเหลือทิ้ง ไม่ใช้วัสดุสิ้นเปลือง ไม่ทิ้งไขมันลงท่อระบายน้ำ มีการนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะฉะนั้น S สุดท้าย คือความรับผิดชอบของทุกคน หากเราสามารถทำได้ครบทั้ง 4 เอส ภูเก็ตก็จะสามารถเป็น City of Gastronomy ที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นๆ ได้”

อาหารท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต เป็นผลลัพท์จากการผสมผสานที่ลงตัว ของอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจีน มลายู และไทย วันนี้เราลองมาฟังความเห็นเกี่ยวกับอาหารพื้นเมืองภูเก็ต จากปากของตัวแทนโรงแรมและร้านอาหารระดับไฮเอนด์ในจังหวัดภูเก็ต

สุทธิเกียรติ คงคติธรรม – Culinary Executive ศรีพันวา ภูเก็ต

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต ที่ชื่นชอบ
“ผมอยู่ภูเก็ตมาปีกว่าแล้ว อาหารพื้นเมืองที่ชอบ คือ โอวต้าว ครับ”

 

โอวต้าว: ดูเผินๆ จะมีลักษณะคล้ายหอยทอด แต่จะมีส่วนผสมที่แตกต่างคือ เผือกและหอยติบ (คล้ายหอยนางรมแต่เล็กกว่ามาก) นอกจากนี้ยังเพิ่มความกรุบกรอบด้วยแคบหมู โรยหน้าด้วยต้นหอม นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นที่น้ำปรุงรสเผ็ดร้อน อาหารจานนี้นิยมทานร้อนๆ แนมกับถั่วงอกสด

ทำไมถึงชอบอาหารจานนี้
“ผมชอบอาหารจานนี้เพราะโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบทานเผือกและหอยนางรม ซึ่งอาหารจานนี้มีทั้งสองอย่าง และอีกนอกจากนี้ ผมยังชอบรสชาติที่เผ็ดร้อน และกลิ่นอายขอบเต่าถ่าน ของอาหารจานนี้อีกด้วย อยากให้ทุกคนได้ชิมจริงๆ”


คุณคิดว่าทำไมต้องลองชิมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต

“ผมเคยลองทานอาหารหลายอย่างในประเทศไทย แต่อาหารพื้นเมืองภูเก็ตเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร และผมอยากเชิญชวนทุกท่าน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มาเที่ยวภูเก็ต นอกจากหาดทรายที่สวยงามแล้ว อาหารท้องถิ่น จะเป็นอีกสิ่งที่คุณจะหลงรัก”

*****

วโรดม กันแม้น – ผู้อำนวยการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม เดอะ นาคา ภูเก็ต

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต ที่ชื่นชอบ
“ผมอยากจะแบ่งออกอาหารที่ชอบออกเป็นสองประเภทตามมื้ออาหาร คือ อาหารเช้า – ขนมจีนภูเก็ต และ ติ่มซำ, อาหารเย็น – ต้มส้ม หมูฮ้อง น้ำพริกภูเก็ต”

หมูฮ้อง: หมูตุ๋นใส่เครื่อง รสชาติหวาน-เค็ม เนื้อหมูจะตุ๋นจนเหมือนกับจะละลายในปาก ส่วนผสมหลักประกอบด้วย หมูสามชั้น พริกไทย กระเทียม เครื่องเทศสำหรับหมูฮ้อง ซีอิ้วดำ ซีอิ้วขาว น้ำตาลปี๊ป นิยมทานกับข้าวสวยร้อนๆ

ทำไมถึงชอบอาหารจานนี้
“อาหารเช้า – ขนมจีนภูเก็ต และ ติ่มซำ โดยปกติขนมจีนจะทานเป็นอาหารกลางวันหรือเย็น แต่ที่ภูเก็ตทานเป็นอาหารเช้า ซึ่งทานกับน้ำแกงต่างๆ และผักสดหลากหลายชนิดชนิด เครื่องเคียงขนมจีนมีให้เลือกมากมาย และบางอย่างไม่เคยทานมาก่อน เช่น ใบอ่อนเม็ดมะม่วงหิมพาน์ ปลาฉิงฉ้าง ส่วนติ่มซำภูเก็ตนั้นมีให้เลือกมากมายว่าจะทานอะไร
อาหารเย็น – ต้มส้ม หมูฮ้อง น้ำพริกภูเก็ต เป็นอาหารที่เวลาทานร่วมกันแล้วอร่อยมากๆ รสชาติลงตัว เพราะมีทั้งเค็มนิด หวานหน่อย และเปรี้ยวเล็กๆ”

คุณคิดว่าทำไมต้องลองชิมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต
“สำหรับท่านที่ยังไม่เคยมาภูเก็ตหรือมาแล้ว อยากให้ลองทานอาหารพื้นเมืองดู เพราะว่ารสชาติอาหารจะไม่เหมือนกับที่อื่น และยังสามารถซื้อกลับเป็นของฝากได้ด้วย โดยเฉพาะหมูฮ้อง หรือหมูเต้าอิ๋ว มีลักษณะคล้ายหมูพะโล้ แต่ไม่ใส่เครื่องพะโล้ เครื่องปรุงประกอบด้วย หมู (นิยมใช้หมูสามชั้น) ซีอิ้วดำ ซีอิ้วขาว น้ำตาล และน้ำ รสชาติหวาน-เค็ม”

*****

วรรณะ นนทามิตร – ผู้จัดการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม เดอะ รอยัล พาราไดซ์ โฮเทล & สปา ภูเก็ต

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต ที่ชื่นชอบ
“อาหารภูเก็ตที่ผมชื่นชอบมากที่สุด คือ “น้ำพริกกุ้งเสียบ””

น้ำพริกกุ้งเสียบ: น้ำพริกสไตล์ภูเก็ต มีส่วนผสมสำคัญนอกจากน้ำพริกทั่วไปนอกจากใช้กะปิอย่างดีของภูเก็ตแล้ว ยังมีกุ้งเสียบเป็นตัวชูโรง รับประทานกับผักสด และข้าวสวยร้อนๆ

ทำไมถึงชอบอาหารจานนี้
“ด้วยรสชาติความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ที่จังหวัดอื่นไม่มีแบบนี้ มันหอม หวาน กลมกล่อม เปรี้ยว มัน ตัดกับความเค็มของเคยหรือกะปิแบบภูเก็ต การเลือกใช้กุ้งเสียบที่ผ่านการย่าง หรือรมควันแบบวีถีของชาวเล มาปรุงนั้นก็ถือเป็นส่วนสำคัญนะครับ สีของตัวกุ้งไม่ควรจืดหรือซีดเกินไป เวลาทานจะได้กลิ่นหอมของกะปิ ที่เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับกุ้งเสียบตัวโตๆ แถมถ้าไม่เปรี้ยวพอก็ยังมีมะนาวบีบแถมมาให้ด้วย เอาตามใจชอบ เวลารับประทานต้องมีผักลวก หรือลูกเนียงอ่อนพอดีกิน หรือกับสะตอ บอกเลยว่าสุดยอด”

คุณคิดว่าทำไมต้องลองชิมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต
“ถ้าท่านมีโอกาสมาเยือนภูเก็ตเมื่อไหร่ ถ้าจะมาให้ถึงเมืองภูเก็ตจริงๆ จะต้องมาทานอาหารพื้นเมืองของชาวภูเก็ต ที่มีมากมายหลายอย่าง ให้เลือกทานทั้งอาหารคาว อาหารหวาน รวมไปถึงผลไม้ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร คือ สับปะรดภูเก็ต”

*****

โรเบิร์ต คอนราด – Executive Chef เอาทริกเกอร์ ลากูนา ภูเก็ตบีช รีสอร์ท

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต ที่ชื่นชอบ
“แน่นอนอาหารจานโปรดของผมคือ หมี่หุ้นแกงปูใบชะพลู”

หมี่หุ้นแกงปู: เป็นแกงปูในแบบภูเก็ต น้ำแกงจะไม่ความเผ็ดและหวานพอดีๆ ทานกับหมี่หุ้นลวก พร้อมผักสด

ทำไมถึงชอบอาหารจานนี้?
“มันเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยม ผมชอบเนื้อแน่นๆ สดๆ ของปู และน้ำแกงที่ผสมผสานระหว่างความเผ็ดของเครื่องแกง และความหวานจากปู”

คุณคิดว่าทำไมต้องลองชิมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต
“ในฐานะเมืองท่าและศูนย์การการสัญจรไปมา เมืองภูเก็ตเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ หากคุณต้องการค้นหาความแปลกในอาหาร อาหารพื้นเมืองภูเก็ต เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผจญภัยด้านอาหารของคุณ”

*****

มาร์ติน ชวมบูร์ก – ผู้อำนวยการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม อังสนา ลากูน่า ภูเก็ต

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต ที่ชื่นชอบ
“จนถึงตอนนี้ผมยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารพื้นเมืองภูเก็ตหลายจานนัก แต่ที่ผมเคยลองชิมแล้วชอบมาก คือ บ๊ะจ่าง”

บ๊ะจ่าง: เป็นอาหารที่ประกอบด้วยข้าวเหนียวผัดน้ำมัน มีไส้หลากหลาย อาทิ หมูเค็ม หมูพะโล้ กุนเชียง ไข่แดงเค็ม กุ้งแห้ง เห็ดหอม ห่อด้วยใบจ่าง (พืชตระกูลไผ่) แล้วนำมานึ่งให้สุก

ทำไมถึงชอบอาหารจานนี้
“สิ่งที่ทำให้ผมชอบบ๊ะจ่าง อย่างแรก คือ รสชาติที่สมดุล กลมกล่อมของเครื่องเทศที่ผสมผสานในข้าวเหนียว และไส้ในของมัน นอกจากนี้ บ๊ะจ่างยังทำให้ผมนึกถึงช่วงเทศกาลแข่งเรือในภาคใต้ของจีน ซึ่งผมเคยอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานด้วย”

คุณคิดว่าทำไมต้องลองชิมอาหารพื้นเมืองภูเก็ต
“อาหารพื้นเมืองภูเก็ต เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางอาหารของจังหวัดภูเก็ต นำเสนอการผสมผสานระหว่างรสชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวิธีการปรุงอาหารที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือสิ่งที่สมควรต้องลองเมื่อมาเที่ยวภูเก็ต”

*****

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.