นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
Featured People

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

“น้องจุ้ง” เด็กน้อยในร่างกุ้งมังกร เด็กเอิดๆ ซนๆ กินจุ ผู้ชอบสำรวจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งของกินอร่อย กิจกรรมมันๆ และวิวสวยๆ เด็กน้อยผู้พร้อมอวดประสบการณ์ให้เพื่อนทั่วโลกเห็นของดีในจังหวัดภูเก็ต ต้นกำเนิดของ “น้องจุ้ง” มาจากแนวคิดในการยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

ที่มาที่ไป วัตถุประสงค์ ของการจัดทำโครงการประกวดมาสคอต และ จัดขึ้นโดยใคร
เนื่องด้วยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ตมีความคิดว่าการท่องเที่ยวในบริบทปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าในอดีตค่อนข้างมาก การที่เราจะใช้จุดเด่นของภูเก็ตในอดีตซึ่งได้แก่ Sun Sea Sand นั้นอาจจะไม่เพียงพอกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ เนื่องด้วยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปจากอดีตซึ่งมี Baby boomer มาเที่ยวเยอะ แต่ปัจจุบันมี Gen Y มีมิลลิเนี่ยมแล้วก็มี Gen C เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้การท่องเที่ยวมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจึงมีความคิดในการสร้าง Content ที่ทำให้เราเข้าถึงทุกเพศทุกวัยและสามารถเป็นตัวแทนภูเก็ตได้ ก็เลยคิดถึงการทำมาสคอตประจำภูเก็ตขึ้นมา ด้วยความที่เราอยากจะได้ความคิดที่หลากหลายจากผู้คนทั่วประเทศ เราจึงมีโครงการจัดการประกวดมาสคอตประจำจังหวัดภูเก็ตขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากนักออกแบบทั่วประเทศมากถึง 230 ชิ้นงาน ผ่านกระบวนการคัดเลือกจนเหลือ 10 ชิ้นงานสุดท้าย และมี 1 ชิ้นงานที่กรรมการได้ตัดสินให้เป็นมาสคอตประจำจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ครับ

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และเรื่องราวของน้องจุ้ง มาสคอต ของภูเก็ต
“น้องจุ้ง”

ความหมายของมาสคอตที่ชนะการประกวด
ในขั้นตอนของการประกวด เราจะให้โอกาสผู้ออกแบบมาอธิบายถึงวิธีการคิดและเรื่องราวที่เขาร้อยเรียงมา มาสคอตที่ได้เป็นมาสคอตประจำภูเก็ตจะเป็นรูปกุ้งมังกร ซึ่งเวลาเรานึกถึงกุ้งมังกรในบริบทโลกเราจะนึกถึงชื่อ “ภูเก็ตล็อบสเตอร์” ซึ่งเป็นกุ้งมังกร 7 สี ดังนั้นในแง่ของชื่อกุ้งมังกรมันไปได้กับภูเก็ตอยู่แล้ว กุ้งมังกรตัวนี้ผู้ออกแบบเขาตั้งชื่อว่า “น้องจุ้ง” เหตุผลที่เป็น “น้องจุ้ง” ก็เพราะว่ากุ้งมังกรตัวนี้มีเพื่อนสนิทเป็นหอยเม่นสีดำ แล้วหอยเม่นพูดไม่ชัดเรียกกุ้งมังกรเป็น “จุ้งมังจร” เขาก็เลยตั้งชื่อมาสคอตตัวนี้ว่า “น้องจุ้ง” หลังจากนั้นเราได้พัฒนาหอยเม่นเป็นชื่อเฉาก๊วย ก็จะกลายเป็น “น้องจุ้ง” กับ “เฉาก๊วย” แต่ตัวหลักก็คือ “น้องจุ้ง” ซึ่งเป็นกุ้งมังกรและเป็นตัวแทนของความเป็นภูเก็ตนะครับ

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และเรื่องราวของน้องจุ้ง มาสคอต ของภูเก็ต

อะไรที่ทำให้เลือกมาสคอตรูปนี้
ก่อนอื่นขอเล่ากระบวนการในการตัดสินก่อนนะครับ จากในเบื้องต้นกว่า 200 ชิ้นงาน เราใช้กรรมการในจังหวัดภูเก็ตเพื่อสกรีนเรื่องราวหรือรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ตัวหอยมุก สับปะรด ตัวกุ้งมังกรหรือแม้กระทั่งหมี่ฮกเกี้ยนที่ผ่านเข้ารอบมา ส่วนรอบ 10 คนสุดท้ายเราใช้นักออกแบบระดับมืออาชีพมาเป็นคนตัดสินใน 2-3 มิติด้วยกัน มิติแรกจะพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องของสเกล ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่เมื่อขึ้นรูปสเกลตัวมาสคอตจริงๆ เราต้องเข้าใจตรงนี้นะครับว่ารูปที่วาดกับเวลาสร้างจริงมันจะต่างกัน ในรูปวาดอาจจะดูดี ดูน่ารัก แต่เวลาสร้างจริงแล้วสเกลมันต้องยืดออกหดเข้ามันอาจจะไม่น่ารักเหมือนรูปวาด เพราะฉะนั้นคนที่มีประสบการณ์จะสามารถอธิบายได้ว่ารูปนี้เหมาะสมหรือไม่ ทำสเกลตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ มิติที่ 2 คือเรื่องของความเหมาะสมในการเป็นมาสคอต อย่างเช่นญี่ปุ่นก็จะมีหมีเป็นมาสคอต เราก็ต้องไปดูเรื่องราวว่าทำไมต้องเป็นหมี นั่นก็เพราะว่าในแถบนั้นมีหมีดำเยอะมากและสามารถเป็นตัวแทนของพื้นที่ได้ หลักการเดียวกันก็คือว่าเราต้องดูความเหมาะสมว่าเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านกระบวนการสร้างสรรค์มาแล้วมันทำให้นึกถึงภูเก็ตหรือไม่ และสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของมิติการออกแบบ วิธีการออกแบบ การใส่ท่าทาง เพราะเมื่อเรานำมาสคอตไปทำเป็นของที่ระลึก มันจะต้องมีหลายคาแรคเตอร์ หลายอิริยาบท บางทีกับอิริยาบทนี้อาจจะดูน่ารัก แต่พอเปลี่ยนไปแล้วอาจจะดูไม่น่ารัก มาสคอตจึงต้องเข้าถึงได้ทุกอิริยาบถ ทุกเพศทุกวัย เพราะฉะนั้นกระบวนการในการคัดเลือกครั้งนี้ค่อนข้างมีมาตรฐานพอสมควรกว่าจะได้ “น้องจุ้ง” มา ก็ผ่านกันหลายวัน หลายคน จนได้มาเป็น “น้องจุ้ง” ในที่สุดครับ

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และเรื่องราวของน้องจุ้ง มาสคอต ของภูเก็ต

สิ่งที่จะทำต่อไปกับมาสคอตที่ชนะในการประกวดครั้งนี้
โดยหลักแล้วเมื่อเราประกวดได้มาสคอตมาหนึ่งตัว มาสคอตตัวนี้จะมี 2 มิติ มิติที่ 1 ก็คือสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ เป็นมาสคอตที่คนเข้าไปอยู่ข้างในได้ สามารถเดินพาเหรด สามารถร่วมกิจกรรมกับนักท่องเที่ยวและไปร่วมอีเว้นต์ทั้งในและต่างประเทศได้ นั่นคือมิติที่ 1 นะครับ ส่วนมิติที่ 2 คือ เรามีแพลนที่จะทำมาสคอตตัวนี้วางตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภูเก็ต เพื่อเป็นตัวดึงดูดและพยายามสร้างความเชื่อมโยงของมาสคอตกับแหล่งท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นมาสคอตที่ไปวางตามแหล่งท่องเที่ยวจะถูกสร้างตามอิริยาบทต่างๆ เช่นอาจจะเป็น “น้องจุ้งมังจร” นอนอาบแดด หรือ“น้องจุ้งมังจร” เล่นเซิฟ หรือ “จุ้งมังจร” กำลังวิ่ง แล้วเอาไปตั้งในงานวิ่งเป็นต้น ในขั้นตอนต่อไปทางสมาคมจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจ มาร่วมกันพัฒนาให้เป็นสินค้าเชิงการท่องเที่ยว อาจจะเป็นร่ม เสื้อหรือโปสการ์ด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะมีเงื่อนไขในการใช้งาน ถ้าท่านจะนำไปใช้ต้องขออนุญาตสมาคมก่อน และที่สำคัญคือสเกลของมาสคอตจะต้องเป็นไปตามที่เรากำหนด ไม่สามารถไปยืดสเกลได้ แต่อิริยาบทใดที่คิดว่าจะนำไปสู่การท่องเที่ยวได้ ก็ขอให้ติดต่อสมาคมเข้ามา ซึ่งเราจะมีกรรมการทำหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่นะครับ แต่หลักๆ คืออยากให้นำใช้กัน เพราะว่านี่จะเป็นตัวส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง เวลามีพาเหรดหรืองานเทศกาลคาร์นิวัลเปิดหาดป่าตอง เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูเก็ต เราจะเห็น”น้องจุ้ง” เดินอยู่แน่นอนครับ

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และเรื่องราวของน้องจุ้ง มาสคอต ของภูเก็ต

CONCEPT
“น้องจุ้ง” อายุ 3 ขวบ เกิดกลางทะเลอันดามัน เด็กเอิดๆ ซนๆ ในร่างกุ้งมังกร กินจุ ชอบสำรวจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งของกินอร่อยๆ กิจกรรมมันๆ และวิวสวยๆ น้องจุ้งตั้งใจจะไปให้ครบทุกมุมในภูเก็ต และจะดีใจมากที่ได้อวดประสบการณ์ให้เพื่อนๆทั่วโลกเห็นว่าภูเก็ตมีของดีมากมาย น้องจุ้งมีเพื่อนซี้คือน้องอุมิ เม่นทะเลที่พูดไม่ชัดว่ากุ้งเป็นจุ้ง ทำให้ใครๆเรียกติดปากตามกันมาว่า “น้องจุ้งมังจร”

แนวคิดในการสร้างมาสคอต “น้องจุ้ง” เป็นไปเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดโดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เนื่องด้วยภูเก็ตมีความหลากหลายทางประชากรทั้งชาวเล ชาวจีน ชาวมลายู ชาวไทย รวมทั้งชาวต่างชาติ การเลือกมาสคอตเพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดจึงไม่เจาะจงแทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีความสัมพันธ์ร่วมกันได้ ดังนั้นสัตว์ทะเลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด รวมทั้งชื่อเสียงของอาหารทะเลยังเป็นที่นิยมและมีราคาสูง “กุ้งมังกร” มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ต่อยอดได้ง่ายจากการโปรโมทการท่องเที่ยวภูเก็ตมาหลายปี มีภาพลักษณ์ดี จดจำง่าย และยังไม่ถูกใช้เป็นตัวแทนของที่ใดในโลก อีกทั้งการใช้เด็กเพื่อเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้ ตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ มีปฎิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบตัว นำมาออกแบบให้น่ารัก ลดทอนรายละเอียดของหนวด เส้นสาย หนามให้น้อยลง และใช้สีสันสดใสโดดเด่น จนออกมาเป็น “น้องจุ้ง” ที่น่ารักน่าเอ็นดู และเป็นตัวแทนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในวันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.