การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นคำที่ถูกพูดถึงให้เราได้ยินกันค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในจังหวัดที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วยการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างภูเก็ตเรา ในวาระที่ คุณกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร หรือคุณเกด เข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้ ภูเก็ตอินเด็กซ์จึงหาโอกาสพูดคุยเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับท่าน ซึ่งก็ได้ถือโอกาสนี้พูดถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นทิศทางของการท่องเที่ยวที่หลายๆ ภาคส่วนกำลังพยายามส่งเสริมและมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
แรงบันดาลใจสู่การทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ผอ.ททท.ภูเก็ตคนใหม่เล่ากับเราอย่างเป็นกันเองว่า “ทำงานด้านการท่องเที่ยวมาเกือบสามสิบปีแล้วค่ะ เริ่มแรกที่เข้ามาตอนนั้นการท่องเที่ยวก็ยังไม่บูมเท่าไหร่ แต่มีความรู้สึกว่าเราได้โอกาสและได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย คือนอกเหนือจากได้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยไปสู่นานาชาติแล้ว ตอนหลังเรายังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางในประเทศด้วยกันเองด้วยค่ะ ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่คิดว่า เราทำงานไปด้วยเหมือนกับได้เที่ยวไปด้วย ก็เลยเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต โดยเฉพาะการได้มาอยู่ในภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ใครๆก็อยากจะมาพักผ่อน แต่เราได้อยู่ที่นี่ทุกวัน อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้ เป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่งค่ะ”
อะไรที่ทำให้คุณสนใจในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
“สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เรื่องนี้ก็คุยกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะตัวนักท่องเที่ยว แม้แต่คนที่อยู่เจ้าของพื้นที่ คือตอนแรกที่เริ่มทำเหมือนกับเริ่มสร้างจิตสำนึกให้มีความตระหนักรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่ เราก็ทำเรื่องนี้กันอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องขยะ หรือเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่หลายๆคนอาจจะคิดว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ ดูเหมือนกับไม่ได้ไปด้วยกัน แต่จริงๆ มันไปด้วยกันได้ โดยที่เราสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะตอนนี้ของจังหวัดภูเก็ตเราทุกๆ หน่วยงาน ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มอาสาสมัครหลายๆ กลุ่มด้วยกันที่เริ่มทำงานกันก่อน ไม่ว่าจะเรื่องเก็บขยะ เรื่องปะการัง หรือเรื่องต่างๆ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราก็มีโครงการเก็บขยะใต้ทะเล Upcycling the Ocean ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะการเอาขยะขึ้นมา แต่มันเป็นวงจร คือ ครบกระบวนการของการจัดการขยะใต้ทะเล ซึ่งจะให้เห็นภาพว่าท้องทะเลไทยเราสวย นอกจากบนฝั่งที่สวยแล้ว ตรงเกาะต่างๆ และใต้ทะเลเราก็มีความสะอาดและสวยงามค่ะ”
รู้สึกอย่างไรกับคำว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
“สำหรับคำว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทุกคนจะดูเหมือนเป็นอะไรที่ไกลตัว แต่ไม่ใช่เลย เป็นอะไรที่ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบมีความรู้สึกร่วมกันว่าทุกคนจะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง เพราะว่ามันไม่ใช่จะมีผลกระทบเฉพาะตัวเรา หรือพื้นที่เราเท่านั้น ผลกระทบต่อโลกซึ่งทุกคนอยู่ในโลกนี้ ทำอย่างไรให้เรารักษาสัดส่วนของธรรมชาติ กับความเป็นเมืองให้คู่กันไป คือถ้าถามแล้วมันไปด้วยกันได้นะคะ แต่เราทุกคนต้องมีจิตในการรับผิดชอบร่วมกันค่ะ
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควรจะเป็นอย่างไรในรูปแบบไหน
“คือตอนนี้พอพูดว่าอนุรักษ์ปุ๊บ เราก็นึกถึงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทางทะเล และส่วนของบนพื้นดิน ตรงนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามประสานความร่วมมือว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ และการกำหนดจำนวนขีดความสามารถในการรองรับเพื่อที่จะดูแลและควบคุมในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากตัวธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ยังมีสิ่งที่เราจะทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขยะ หรือมลพิษต่างๆ ควันจากท่อไอเสีย จากน้ำมัน จากเรือ ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องไปหมดค่ะ แต่ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้อยู่ในกฏเกณฑ์ที่ไม่ทำลายไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ธรรมชาติมันจะไปด้วยกันได้ดี”
มีอะไรอยากจะฝากถึงผู้อ่าน
“สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็อยากจะขอฝากนิดนึง ว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนรุ่นหลังๆ เด็กที่เกิดมาทุกรุ่นมีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ที่ว่าตัวเองต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่ระเบียบวินัยต่างๆ ให้ทำตามกฏเกณฑ์ ซึ่งต่อไปในอนาคต เยาวชนก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยกันและทำให้รุ่นต่อๆไป จะได้เห็นอะไรที่ยังสวยงามเหมือนที่รุ่นพวกเราเห็นกันค่ะ”