Featured

ม้าทรง

เทศกาลกินเจหรือการถือศีลกินผัก เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดที่สร้างสีสันมากที่สุดให้กับเทศกาลก็คงจะหนีไม่พ้น จังหวัดภูเก็ต ที่นี่เทศกาลกินเจจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนและ ตุลาคม นับเป็นช่วงเวลา 9 วัน 9 คืน ที่ชาวภูเก็ตเค้าใส่ชุดขาวและเห็นธงเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกินเจแทบทั้งเมือง

พิธีกรรมเริ่มจากการยกเสาโกเต้ง เป็นเสาที่อยู่กลางแจ้งหน้าศาลเจ้าซึ่งชาวภูเก็ตเรียกศาลเจ้าว่า “อ๊าม” ในวันแรกของเทศกาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเทศกาลกินเจได้เริ่มขึ้นแล้ว

อ๊ามที่ภูเก็ตมีด้วยกันหลายที่ อย่างเช่น อ๊ามจุ้ยตุ่ย อ๊ามกระทู้ สองที่นี้เป็นศาลเจ้าเก่าแก่แรกเริ่มของภูเก็ต นอกจากนั้นยังมี อ๊ามบางเหนียว อ๊ามท่าเรือ อ๊ามสามกอง อ๊ามเชิงทะเล และอ๊ามสะปำคนที่เคร่งครัดในเทศกาลนี้จริงๆ จะนุ่งขาวห่มขาวและเริ่มรับประทานอาหารเจล่วงหน้าก่อนเทศกาลจะเริ่ม 1-2 วัน เพื่อเป็นการล้างท้อง ในท้องจะไม่มีเศษเนื้อสัตว์หลงเหลือ เริ่มต้น อยู่ในศีลและเทศกาลได้ด้วยร่างกายและจิตใจที่บริสุทธิ์

ม้าทรง

สีสันของเทศกาลนี้อยู่ที่มีการทรงเจ้า การแสดงการลุยไฟและการปีนบันไดมีด โดยผู้ที่ถูกเรียกว่า “ม้าทรง” นั่นเอง ม้าทรงคือผู้ที่เทพเจ้าเลือกให้เป็นตัวแทนของพระ (เทพเจ้า) ระหว่าง โลกมนุษย์ โดยการอาศัยร่างกายของม้าทรงติดต่อสื่อสาร

เชื่อกันว่าการเข้า ทรงของพระจีนเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของพระจีนและสามารถปัด เป่าสิ่งชั่วร้าย บันดาลความสุขให้แก่ผู้เคารพเลื่อมใสพระจีน และเชื่อกันว่าผู้ที่เป็นม้าทรง ของพระจีนได้ จะต้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะดังนี้

  • เป็นผู้มีบุญที่เทพเจ้าเลือกแล้ว แม้จะอยู่ไกลเพียงใด แต่อาการของคนจะเป็นม้าทรงจะออกมาเอง คือ จะมีอาการสั่น หนาวเย็นมือและท้าว หัวเราะเสียงดังลั่นราวกับนักรบจีนสมัยโบราณ  ใจเต้นแรงหรือใจสั่นตามเสียงกลอง ควบคุมตัวเองไม่อยู่และมึนๆ แบงรายอาจมีอาการเคลือนไส้ หรืออาจจะมีอาการสั่นศีรษะเบาๆกรณีที่เป็นเทพฝ่ายหญิงเป็นต้น
  • คนที่ชะตาขาดแล้วเทพเจ้าช่วยเหลือต่อชีวิตให้ เป็นคนชะตาขาดกำลังจะดับ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องตาย พระจีนหรือเจ้าจะเข้าประทับทรง เป็นการช่วยเหลือต่ออายุให้ม้าทรง ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลกินเจก็ต้องเป็นม้าทรง
  • คนที่เคย บนบานสานกล่าวไว้ว่าจะยอมเป็นม้าทรง หรือ โดยความสมัครใจของม้าทรงที่จะเสียสละอุทิศตนรับใช้พระจีน และพระจีนยอมรับว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมให้เป็นม้าทรงได้
  • คนที่มีองค์เทพคุ้มครอง บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นม้าทรงแต่ต้องบูชาเทพองค์นั้น แต่บางครั้งก็ต้องให้เทพลงประทับทรง

ม้าทรง

ชีวิตของคนที่เป็นม้าทรงจะเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าไปโดยปริยาย ม้าทรงแต่ละคนจะต้องมีพี่เลี้ยงอย่าน้อย 2-3 คน คือคนดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น การใส่ต้อ การนำไปทำพิธีต่างๆ ถืออาวุธ หรือสิ่งของ และม้าทรงจะต้องถือศีลกินเจ ไปทำความสะอาดศาลเจ้า เวลาศาลเจ้ามีงานวันเกิด (แซยิด) เทพเจ้าต่างๆก็ต้องเข้าร่วมงานไม่จำเป็นต้องไปประทับทรงแค่เข้าร่วมในงานก็พอ และที่สำคัญม้าทรงมีหน้าที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าในการช่วยเหลือมนุษย์ เช่น คนป่วย คนมีเคราะห์ คนที่มีปัญหาทางจิตใจ ชีวิต และ ครอบครัว

การเข้าทรงของ พระจีน จะมาช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ร้อน รักษาโรคภัยไข้เจ็บ บันดาลความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และอำนวยความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ที่เคารพเลื่อมใส

การอัญเชิญพระจีนเข้าประทับทรง จะต้องบวงสรวงในอ๊ามโดยมีม้าทรงและพี่เลี้ยง 2-3 คน เป็นผู้ช่วย กล่าวบทอัญเชิญพระจีน ตีล่อโก๊ะ ตีกลอง จุดธูป เผาไม้หอม เซ่นไหว้ด้วยผลไม้ บูชาหน้ารูปพระจีนหรือหน้าตั๋ว เมื่อพระจีนเข้าทรง ม้าทรงตัวสั่นสะท้าน ส่ายหน้าไปมา มือเกร็งสั่นเทิ้มตลอดเวลา ร่างของม้าทรงจะวิ่งไปที่หน้าแท่นบูชา หยิบธง และอาวุธประจำตัวของ พระจีนองค์ที่เข้าทรงได้ถูกต้อง พี่เลี้ยงจะช่วยถอดเสื้อม้าทรงออก แล้วเอาต้อชุดทรงประจำตัวของพระจีนนั้นมาผูกใส่ให้

ม้าทรง

การแสดงอิทธิฤทธิ์ของพระจีน เมื่อพระจีนเข้าทรงแล้ว บางครั้งจะคว้าอาวุธ คู่มือ มีทั้งดาบจีน ง้าว ขวาน มีด เหล็กแหลม ลูกตุ้มเหล็ก เป็นต้น ออกมาร่ายรำ ฟาดฟัน ทิ่มแทงร่างกายตนเอง เช่น แก้ม ลิ้น แขน หน้าอก หลัง สีข้าง ตัดลิ้นออกมาเขียนยันต์เขียนฮู้ให้ผู้เคารพเลื่อมใสเก็บไว้เป็นสิริมงคล การกระทำของพระจีนม้าทรงจะไม่รู้สึกตัวไม่มีความเจ็บปวดซึ่งหลัง จากพระ จีนออกจากการเข้าทรงแล้ว ร่างม้าทรงจะมีร่องรอยบาดแผลอยู่เพียงเล็กน้อย ซึ่งจะหายไปเองโดยใช้ยันต์ปิดไว้ ร่องรอยที่แก้มก็เพียงเอาเถ้าขี้ธูปอุดรูไว้ก็จะหายสนิท

สำหรับพิธีกรรม ในช่วงเทศกาลกินเจ หากผ่านที่สำคัญๆเช่น อ๊ามด้วยกัน ม้าทรง ร่างทรงและคนแบกเกี้ยวก็จะได้สนุกกัน เพราะประทัดดอกแดงกว่าสามพันนัด พันปลายด้านหนึ่งเข้ากับ ด้ามไม้ไผ้สูงกว่า 3 เมตร ถูกแหย่เข้ามากลางถนนบนเกี้ยว นัยว่าเพื่อบูชาเทพเจ้าที่อยู่ในเกี้ยวนั้น

พี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่ประจำม้าทรงจะเอาน้ำมันมาทาอุปกรณ์ ทำให้ลื่นและเอาอุปกรณ์ออก หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่นำธงสีดำนัยว่าเป็นธงประจำพิธี มีตัวอักษรจีนเขียนอยู่บนธง มาทาบที่หน้าผากแล้วก็ทำพิธี เลือดที่ไหลข้างแก้มถูกซับด้วยกระดาษเงินกระดาษทองที่ใช้ในพิธีกงเต๊ก  มาซับแทนผ้า ไม่นานเลือดก็หยุดไหล ม้าทรงนั่งพักสักครู่ ก็ถึงเวลาที่เทพเจ้าจะออกจากร่างหรือที่พี่เลี้ยงเรียกว่า “ไปลาพระ” ขั้นตอนนี้ ม้าทรงจะถูกเรียกไปยืนหน้าโต๊ะพิธีกรรมหรือหิ้งพระ เจ้าหน้าที่ผู้ประกอบพิธีจะนำธงสีดำมาทาบที่หน้าผากแล้วทำพิธี ไม่นานม้าทรงที่ยืนสั่นอยู่ก็หมดสติ พี่เลี้ยงจะรอรับร่างอยู่ข้างหลัง หลังจากนั้น ม้าทรงซึ่งตอนนี้เป็นแค่คนธรรมดา แล้วจะถูกเรียกให้ตื่น เป็นอันเสร็จพิธี

ผู้ที่เป็นม้าทรงจะต้อง รักษาความสะอาดของร่างกาย รวมทั้งวิถีชีวิตของความเป็นอยู่โดยไม่รับประทานเนื้อสัตว์ต้องรับประทานผัก อย่างเดียว ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก นอกเหนือ จากเทศกาลแล้ว ก็ควรรักษาศีล นั่งสมาธิสวดมนต์เป็นประจำ ควรกินเจในวันพระและวันเกิดของตัวเอง ห้ามทานของในงานศพอีกด้วย

ม้าทรง

ม้าทรง

ม้าทรง

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.