ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต แนะนำโดยคุณวริศรา โถวิเชียร
Arts & Culture

ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต แนะนำโดยคุณวริศรา โถวิเชียร

j1

วริศรา โถวิเชียร เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หากใครจะมาเที่ยวภูเก็ต หนูอยากจะแนะนำให้มาตอนช่วงเทศกาลถือศีลกินผักค่ะ มันเป็นประเพณีที่เก่าแก่และสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุ เราจะได้มาทำบุญ ไหว้พระ ในช่วงเทศกาลกินผักคนภูเก็ตจะแต่งกายสวมใส่ชุดสีขาว ส่วนในเรื่องของการทานอาหารนั้นเราจะทานแต่ผัก ละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพเราดีด้วยค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของทางศาลเจ้าให้เราได้ดูกันอีกมากมาย

ข้อมูลประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต

ประเพณีถือศีลกินผัก (เจียะฉ่าย) จังหวัดภูเก็ตนั้นเริ่มครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ในปี พ.ศ. 2368 พระยาถลาง (เจิม) ได้ย้ายเมืองถลาง มาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่บริเวณดังกล่าว เป็นป่าทึบมีไข้ป่าชุกชุม ดังนั้นเมื่อมีคณะงิ้วเร่ (ปั่วฮี่) จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง และเกิดล้มเจ็บลง คณะงิ้ว จึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า “ กิ๋วอ๋องไต่เต่ ” และ “ ยกอ๋องซ่งเต่ ” หลังจากนั้นปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บ ได้หมดไปชาวกะทู้สอบถามได้ความ เช่นนั้นก็เกิดศรัทธา จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อความ เป็นมงคลแก่ตนเอง และบ้านเมือง ต่อมามีผู้รู้รับอาสา ไปอัญเชิญเหี่ยวโห้ย หรือ เหี่ยวเอี้ยน (ควันธูป) และเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกินผัก ที่มณฑลกังไส ประเทศจีน และได้เดินทางกลับมาถึงใน วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 เมื่อชาวบ้านทราบข่าว จึงได้จัดขบวนไปรับ ที่บ้านบางเหนียว อันเป็นกำเนิดของพิธีรับพระนั่นเอง ในพิธีกินผักนั้น ช่วงบ่ายก่อนวันพิธีหนึ่งวัน จะมีพิธียกเสาโกเต้ง ไว้หน้าศาลเจ้า เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญเจ้า “ ยกอ๋องซ่งเต่ ” (พระอิศวร) และ “ กิ๋วอ๋องไต่เต่ ” (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) มาเป็นประธานในพิธี และจะนำตะเกียง 9 ดวง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ ของการเริ่มพิธี ไว้บนเสาโกเต้งเวลาเที่ยงคืน นอกจากนี้ตลอด 9 วันของพิธีกินผัก จะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีอัญเชิญลำเต้า – ปักเต้า (เทวดาผู้กำหนดเวลา เกิด และ ตาย) พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ) พิธีอาบน้ำมัน ขึ้นบันไดมีด พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) ตลอดจนการทรงพระ ซึ่งเป็นการอัญเชิญเจ้า มาประทับในร่าง ของม้าทรง และแสดงอิทธิฤทธิ์ ด้วยการทรมานร่างกาย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรับทุกข์ แทนผู้ถือศีลกินผัก และเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่บ้านเมืองกล่าวกันว่า ผู้ที่จะเป็นม้าทรงได้ มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือ ผู้ที่ชะตาขาดแต่ยังไม่ถึงฆาต ดังนั้นการเป็นม้าทรงจึงเปรียบเสมือนการต่ออายุขัย ผู้ที่พระเห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ในระหว่างเทศกาล จะมีการประโคมด้วยกลองล่อโก๊ะ และจุดประทัด โดยเฉพาะในวันส่งพระ ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดของ พิธีกินผัก ด้วยความเชื่อว่าเสียงดัง จะทำให้สิ่งชั่วร้ายหมดไป สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีกินผักนั้น นอกจากจะได้รับผลบุญ และความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองแล้ว ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจมีเมตตา ไม่ฆ่าสัตว์ ละเว้นอบายมุขทั้งปวง อันก่อให้เกิดความสะอาด สว่างสงบในจิตใจ

9

5

ความคิดเห็นจาก Phuketindex.com

ประเพณีถือศีลกินผักเป็นประเพณีที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี และนักท่องเที่ยวก็ต่างให้ความสนใจที่จะมาทำบุญ มาถือศีล กินผักกันที่จังหวัดภูเก็ต อาหารการกินก็หารับประทานกันง่ายมาก ในช่วงเทศกาลร้านอาหารหลายร้านก็จะออกมาทำอาหารเจขายกัน และในศาลเจ้าก็ยังมีโรงครัวที่ให้ผู้คนสามารถหิ้วปิ่นโตไปเอากับข้าวกันได้ นอกจากจะมาสร้างบุญด้วยกันแล้ว ในประเพณีกินผักนี้ก็จะมีการจัดทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของแต่ละศาลเจ้า และมีการแห่พระรอบเมืองให้ผู้คนได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ และบริเวณข้างทางชาวบ้านจะจัดโต๊ะ จัดผลไม้นานาชนิด ดอกไม้ ธูปเทียน และประทัดไว้เพื่อต้อนรับขบวนของพระที่เข้าทรง

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.