ชื่อเดิม นายช่วง สุกสิกาญจน์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก เดิมอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 62/13 ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ได้บรรพชาเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เวลา 13.30 น. อายุประมาณ 31 ปี ได้รับสมญานามว่า “พระช่วง ถิรธมฺโม” โดยมีพระอุปชาฌาย์ ชื่อ พระธรรม นาถมุนี วัดท้าวโครต ตำบลนา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเข้าศึกษาปฏิบัติธรรมะวิปัสสนากับ พระอาจารย์พระครูภาวนานุศาสน์ (แป้น ธมฺมธโร)
ในช่วงต่อมา พระอาจารย์ช่วง มีภาวะเป็นโรคปอด จึงเดินทางไปยังจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยได้จำวัดอยู่ ณ วัดกระโจมทอง ที่แห่งนั้น พระอาจารย์ช่วงได้พบกับ พระอาจารย์สุทัศน์ ซึ่งเป็นพระผู้สอนกรรมฐานให้พระอาจารย์ช่วง องค์แรก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระราชภาวนาวัชราจารย์ วิปัสสนาญาณธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
หลังจากที่อาการดีขึ้น จึงได้เดินทางกลับมาจำวัดที่วัดชายนา จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้พบกับ พระชัยสิงห์ ณ นคร จึงเชิญชวนมาพักฟื้นที่ จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งในวันหนึ่ง นายสกุล ณ นคร ได้พา พระอาจารย์ช่วง มาฝากกับ นายอภินันท์ รังสินธุรัตน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลเกาะแก้ว ให้ช่วยดูแล ณ สำนักสงฆ์สะปำ โดยในช่วงระยะเวลานั้นพระอาจารย์ช่วงได้จำวัดอยู่องค์เดียวบ้างและมีพระอาคันตุกะจากต่างจังหวัดมาขอจำวัดอยู่บ้างเป็นนิจ
จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2540 โยมยุวดี ยุติธรรม ได้ขอเข้ามาปวารณาตัวที่จะสร้างโบสถ์ โดยซื้อที่ดินข้างเคียงมาถวายพระอาจารย์ช่วงเป็นจำนวน 6 ไร่ และ ทำหนังสือขอจัดตั้งเป็นวัด ซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2547 และได้สร้างอุโบสถเสร็จ ในปี พ.ศ. 2547 พร้อมกับขออนุญาตยกฐานะเป็นวัด โดยมีพระครูถิรธรรมมงคล (พระอาจารย์ช่วง) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส จนถึงปี พ.ศ. 2564 เมื่อปีพุทธศักราช 2548 พระอาจารย์ช่วงได้รับ ฐานานุกรม ใน พระราชวรมุนี วัดดุสิดารามวรวิหาร ที่ “พระครูสังฆรักษ์”
และในปี พ.ศ. 2547 พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ที่ “พระครูถิรธรรมมงคล” ตามลำดับ
แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อทางราชการและปฏิบัติหน้าที่ตามกิจของสงฆ์เท่านั้น โดยไม่ยึดติดสมณศักดิ์ที่ได้รับท่านแสดงให้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่านต่อสมณสงฆ์และพุทธบริษัทเสมอมา ตั้งแต่ที่พระอาจารย์ช่วงได้จำวัด ณ สำนักสงฆ์สะปำนั้น ท่านได้สนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา หมั่นปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเป็นนิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ เข้ากรรมฐาน ศึกษาหาความรู้เกียวกับหลักธรรมะต่างๆ ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติที่สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนโดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดสะปำธรรมาราม
จนเมื่อประมาณวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี พุทธศักราช 2562 พระอาจารย์ช่วงเริ่มมีอาการป่วย เริ่มไม่สามารถที่จะก้าวเดินออกจากกุฏิเพื่อปฏิบัติกิจสงฆ์ได้ แต่ท่านก็มิเคยบ่น หรือ บอกกล่าวว่าเจ็บส่วนไหนเลย ศิษยานุศิษย์จะนำอาหารจัดถวายที่กุฏิท่านก็มิรับ จนกระทั่งพระปรัชญา (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) เห็นว่าอาการไม่ค่อยที่จะสู้ดี เลยได้ขอกุญแจกุฏิมาเก็บรักษาไว้ เพื่อคอยดูอาการของพระอาจารย์ช่วงอย่างใกล้ชิด จนเข้าสู่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562 พระอาจารย์ช่วงไม่ได้ขึ้นมาทำวัตรเช้าและปฏิบัติกิจสงฆ์เหมือนดั่งเช่นทุกวัน พระปรัชญาจึงได้ลงไปดูที่กุฏิ และนำส่งโรงพยาบาลในเวลา 21.30 น. โดยทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ทำการเอ็กสเรย์และตรวจดูผลเลือด และให้นอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 7 วันภายใต้การดูแลของ พระปรัชญา และ คุณยุวดี ระหว่างนั้นพระอาจารย์ช่วงเริ่มมีอาการที่ดีขึ้น พูดคุยได้ปรกติ แต่ช่วงล่างมีอาการอ่อนแรง และ ทางคณะแพทย์ได้ตรวจพบว่าพระอาจารย์ช่วง มีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ โดยที่เลือดไปหล่อเลี้ยงช่วงล่าง บริเวณขาและเท้าไม่เพียงพอ ทางคณะแพทย์จึงแนะนำให้ทำกายภาพ และจะต้องได้รับการผ่าตัดซึ่งพระอาจารย์ช่วงก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะแพทย์
ซึ่งหลังจาการผ่าตัดนั้น อาการของพระอาจารย์ช่วงเริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้นว่าพระอาจารย์ช่วงจะอยู่บนเตียง แต่เมื่อถึงเวลาท่านก็ยังคงเข้าสมาธิกรรมฐานเป็นประจำทุกวันอย่างเป็นนิจ เพื่อให้ความทุขเวทนาจากตรงนั้นได้หายไป หลังจากที่กลับมาจากโรงพยาบาลได้ประมาณ 4 วันอาการของพระอาจารย์ช่วงเริ่มทรุดลง และค่อยๆ หลับไป นับแต่นั้นมาเป็นระยะเวลา 7 เดือนโดยประมาณ แต่ก็ยังคงมีลมหายใจและ พยาบาลประจำตัวก็ยังคงให้อาหารทางสายภายใต้การดูแลของ พระปรัชญา (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) และ คุณยุวดีอย่างใกล้ชิด
จนกระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 8 ทางคณะแพทย์ได้เข้ามาเจาะเลือดและวิเคราะห์อาการโดยที่พระอาจารย์ไม่มีปฏิกริยาสะดุ้ง และ อย่างอื่นแต่อย่างใดทุกอย่างยังคงสงบและหายใจได้เป็นปรกติ ทางคณะแพทย์จึงลงความเห็นว่าให้เปลี่ยนช่องทางเดินหายใจใหม่เพื่อพระอาจารย์ช่วงได้สบายขึ้น
ในระยะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา พระอาจารย์ช่วงยังคงจำวัดอยู่ในกุฏิ จากการเล่าขานของพระปรัชญา และ พระลูกวัด รวมถึงพยาบาลที่ใกล้ชิดบอกเราว่า เมื่อถึงเวลาเช้าและเย็นของทุกวัน พระอาจารย์ช่วงยังคงถอดจิตเข้ากรรมฐานเป็นปรกติของทุกวันอย่างมิได้ขาด ถึงแม้นจะนอนอยู่บนเตียงก็ตาม จนล่วงเข้าสู่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564 พระอาจารย์ช่วงได้ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง แต่การลืมตาครั้งนี้ พระอาจารย์ช่วงไม่สามารถโต้ตอบด้วยคำพูดใดๆได้ ได้เพียงแค่กรอกตารับรู้ สื่อให้พระปรัชญาและศิษยานุศิษย์ได้รับทราบว่าท่านรับรู้
จนกระทั่งเวลาได้ลุล่วงเข้าสู่เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2564 โรคชราภาพที่มีอยู่ได้กล้ำกลายเข้ามาหนักขึ้น พระอาจารย์ช่วง ผ่านทุกข์เวทนาและได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ วัดสะปำธรรมมาราม เมื่อวันที่ 19 เมษายน ปี พ.ศ. 2564 สิริรวมอายุ 89 ปี นับได้ 59 พรรษา คงเหลือไว้แต่คุณงามความดีให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน ยึดมั่นความประพฤติปฏิบัติดีสืบไป