
จะมีใครรู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร การงานจะมั่นคงเสมอไปมั้ย หรือจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้ต้องเสียเงินก้อนโต ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน แต่การวางแผนการเงิน คือความแน่นอนที่ตัวเราเป็นผู้ออกแบบ มีคนจำนวนมากเลือกใช้จ่ายแบบวันต่อวัน แต่สำหรับ คุณปุณญิศา โกยสมบูรณ์ หรือ ผึ้ง ผู้ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่รักการออม ทำให้เธอเข้าใจ และรู้จักการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ลองมาทำความรู้จักกับเธอคนนี้ และวิธีการคิดในสไตล์ของนักบัญชีมืออาชีพ
ผึ้ง ศึกษาจบปริญญาตรี เอกการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีการเงิน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) กล่าวได้ว่า คุณผึ้ง คือมนุษย์ที่ต้องคลุกคลีกับเรื่องของเงิน ทั้งในการทำงาน และในชีวิตประจำวัน
เธอเล่าสาเหตุที่เลือกเรียนบัญชี ว่า ตอนศึกษา ม.ปลาย รู้สึกสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์ วิชาที่เหมือนจะเป็นของแสลงของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับเธอ กลับคิดว่าเป็นเกมส์ที่สนุก ท้าทาย แต่สำหรับวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ดูแล้วก็ไม่ตรงกับบุคลิกภาพส่วนตัว เพราะเติบโตมากับครอบครัวที่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย จึงมองว่างานบัญชี เป็นอาชีพที่จับต้องได้มากที่สุดสำหรับเธอ และมีความยืดหยุ่นในการทำอาชีพ หรือนำไปต่อยอดทำธุรกิจของตนเอง
ต่อมาหลังจากศึกษาจบ ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมงานกับ CP องค์กรธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ในสายงานด้านการเงินและบัญชี โดยได้เรียนรู้งานจากสายธุรกิจต่างๆ ในเครือของบริษัท ซึ่งมีระบบการบริหารงานที่ชัดเจน เห็นภาพต่อเนื่องในการดำเนินงาน การสนับสนุนงานของฝ่ายต่างๆ และเห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ช่วยหล่อหลอมให้มีจิตใจที่เป็นผู้นำ และรอบรู้ในวิชาชีพอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างให้ตัวเธอเป็นนักวางแผนที่ดี
วางแผนการเงิน หลักสูตรนักคิด…ง่ายๆ แค่ลงมือทำ
คุณผึ้ง เป็นอีกคนหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางแผนการเงิน เพื่อดีไซน์รูปแบบชีวิตในปัจจุบันและอนาคต เธอเล่าว่า
“ตั้งแต่ในช่วงเรียนมัธยม คุณพ่อคุณแม่ ปลูกฝังนิสัยการออมให้กับผึ้ง ในแต่ละวันที่ได้เงินไปโรงเรียนก็จะต้องเหลือบางส่วนไว้หยอดกระปุก พอทำอย่างนั้นสักพักก็ได้เงินมาเป็นก้อน เราได้เห็นจำนวนเงินก็รู้สึกดีใจ จึงติดนิสัยทำอย่างนั้นเรื่อยมาจนถึงช่วงเรียนมหาลัย จากเงินเก็บเล็กผสมน้อยกลายเป็นเงินก้อนที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ”
“พอเราได้เข้ามาทำงาน ซึ่งก็มีเงินเดือน รายได้ประจำต่างๆ และโบนัส ทำให้ผึ้งสามารถวางแผน สำหรับการใช้เงินในการซื้อของที่ใหญ่ขึ้น เช่น ผึ้งคิดว่าอีก 2 ปี เราจะต้องมีรถยนต์ขับนะ 1 ปีนี้ เราต้องจัดสรรเงินเก็บเดือนละกี่บาท ในการดาวน์รถ หรือเคลียร์ภาระการเงินอื่นๆ ให้เรียบร้อย เมื่อได้รถมาจะได้สามารถผ่อนได้แบบไม่หนักเกินไป และอีกส่วนคือเงินออมที่เป็นก้อน ก็จะนำไปต่อยอด ในการลงทุนในหุ้น หรือกองทุน”
สิ่งใดสำคัญที่สุดในการวางแผนการเงิน?
สำหรับผึ้ง คือ การวางเป้าหมาย เพราะแต่ละคนมีความต้องการหรือความคาดหวังในชีวิตที่ต่างกัีน สำหรับตัวเราจะวางเป้าหมายไว้ 5 ปี หรือ 10 ปี เช่น เราตั้งใจจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในอีกกี่ปีต่อจากนี้ ผึ้งก็จะรู้ว่าเราควรจะเก็บเงินจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ หรือจะต้องบริหารเงินให้โตขึ้นได้อย่างไร เพื่อจะไปถึงเป้าหมายของเรา
การมองถึงชีวิตเกษียณ ตั้งแต่อายุน้อยๆ เร็วไปมั้ย?
ผึ้ง คิดว่าไม่เร็วไปค่ะ ยิ่งเราเริ่มต้นวางแผนถึงชีวิตหลังเกษียณเร็วเท่าไหร่ เราก็ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สำหรับผึ้งวางแผนชีวิตหลังจากเกษียณ ว่า จะต้องมีเงินทุน สำหรับเปิดกิจการเล็กๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง หรือไว้ทำเป็นงานอดิเรก และอาจจะต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียน เป็นกำไร หรือเพื่ออยู่อาศัยเองค่ะ