สำหรับเกาะภูเก็ต การไปไหนมาไหนด้วยพาหนะส่วนตัว เป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่เอื้ออำนวยเช่นเมืองหลวง สำหรับผู้ที่เลือกใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง ล้วนตัดสินใจซื้อเพราะความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เป็นหลัก แต่ด้านผู้ที่ใช้จักรยานยนต์ ก็จะเน้นความคล่องตัว และประหยัดค่าน้ำมัน แต่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่า ไม่เชื่อลองสังเกตในชั่วโมงเร่งด่วน มักจะได้หยินเสียงหวอของหน่วยกู้ภัย และภาพการเกิดอุบัติเหตุของจักรยานยนต์อยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เจ็บเล็กน้อย หนักหน่อยก็แขนขาหัก และเลวร้ายที่สุดก็เสียชีวิตไปไม่ใช่น้อย

จากเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ทำให้ คุณเสรี คีรีวงศ์ ได้ออกแบบ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มประโยชน์ใช้สอย สำหรับรถจักรยานยนต์ (Motorcycle Accessories หรือ Convension Kit) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อุปรกณ์ที่ทำให้รถจักรยานยนต์ มี 4 ล้อ และมีหลังคา สำหรับหลายคนพอฟังแค่นี้ อาจจะคิดว่าเคยเห็นมาแล้วใช้งานไม่ดีหรอกมั้ง? กันแดด กันฝนได้จริงเหรอ? ขับยากมั้ย? แล้วจะดูแปลกรึเปล่า? หลายคำถามยอดฮิตเหล่านี้ เราจึงได้เดินทางไป ณ หมู่บ้านภูเก็ต วิลล่า 3 สถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Seree Motoaccess เพื่อไขข้อข้องใจและพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าใช้งานได้เวิร์คจริงรึเปล่า…
คุณเสรี เป็นชาวพัทลุง ศึกษาจบด้านสถาปัตฯ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มาทำงานและอยู่ที่ภูเก็ต ตัวเขามีความสนใจและชื่นชอบด้านการโมดิฟายด์รถจักรยานยนต์มาหลายปี ประกอบกับมีความคิดว่าคนภูเก็ตใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ ความเสี่ยงในการไปทิ้งชีวิตไว้บนท้องถนนมีสูง แต่ทางเลือกในการขับขี่มีน้อย จึงพยายามคิดค้น ดีไซน์เพื่อแก้ข้อจำกัดในการใช้งาน และออกแบบทางเลือกใหม่ในการขับขี่ ตามหลักการใช้งานที่ถูกต้อง กว่าจะได้มาเป็นแบบสมบูรณ์ (Prototype) เหมือนที่ทีมงานไปเห็นมา คุณเสรีบอกว่าลองปรับเปลี่ยนมาเยอะกว่าจะสำเร็จ จนกระทั่งพร้อมนำเสนอสินค้าตัวนี้กับชาวภูเก็ต
Seree Mortoaccess เหมาะกับใครบ้าง?
ลำดับแรกเลยคือ กลุ่มผู้พิการ ซึ่งไม่มีโอกาสในการขับขี่รถแบบปกติ ก็สามารถขับขี่ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ได้ เพราะไม่ต้องใช้ขาในการทรงตัว ต่อมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหากขับขี่รถจักรยานยนต์สองล้อปกติ ก็จะมีความเชื่องช้าและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อมาคือกลุ่มครอบครัว ซึ่งมีรถยนต์แล้วแต่เบื่อเสียเวลารถติดนาน ก็ใช้ตัวนี้นำลูกไปส่งโรงเรียนโดยที่ไม่ต้องกลัวแดดหรือฝน และสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ อุปกรณ์นี้สามารถเพิ่มพื้นที่กระบะบรรทุกส่วนท้ายรถ ให้บรรจุของได้มากขึ้น
กลุ่มสุดท้ายที่คุณเสรีพยายามอย่างหนักในการเจาะตลาด คือ กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ที่อาจจะไม่กล้านำรถของตนเองมาต่อเติม เนื่องจากไม่แน่ใจ โดยผู้ที่สนใจสามารถไปลองสอบถามและชับขี่จริงดูได้เลย คุณเสรี เค้ายินดีต้อนรับทุกท่าน
ใช้กับรถรุ่นไหนได้บ้าง? … ทำได้กับรถจักรยานยนต์บ้านทุกรุ่น ทั้งระบบเกียร์ และออโต้เมติก เช่น Honda Wave, Honda Click, Yamaha Nouvo, Honda Scoopy I, Honda PCX ฯลฯ
ติดแล้วหล่อมั้ย?
เหตุผลหลักสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่กล้าจะฉีกกรอบ เพราะกลัวไม่เหมือนเพื่อน จากการที่ทีมงานลองไปสอดส่องทุกมุม เราคิดว่าเป็นเจ้าที่ทำได้สวยงาม ดูทันสมัย ใช้วัสดุในการดีไซน์มีโค้งเว้า (หลังคา) สรุปถ้าเทียบกับอุปกรณ์ต่อพ่วงแนวนี้จากที่เคยเห็นมา ของคุณเสรีสวยงามมาก ส่วนจะหล่อจะสวยสำหรับคุณหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน แต่อยากให้มองเรื่องความพอใจ และประโยชน์ใช้สอยที่จะได้รับเพิ่มเข้ามา อ๋ออีกอย่างคุณเสรียืนยันว่าตำรวจไม่จับแน่นอน หากนำมาติดตั้ง เพราะเป็นการอนุโลมการต่อพ่วงรถเพื่อการใช้งาน ไม่ได้ตกแต่งเรื่องความสวยงาม
อุปกรณ์ราคาเท่าไหร่และจะได้อะไรบ้าง?
ได้อุปกรณ์ชุดหลังคา ทำจากอะคลิลิคคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น ทนทาน มีหลากหลายสีสันให้เลือก ซึ่งประกอบเข้ากับโครงเหล็กอลูมิเนียม และที่ทำให้งานของคุณเสรีแตกต่างออกไป คือ มีการเพิ่มล้ออีก 2 ล้อด้านข้างเพื่อกันล้ม โดยจะเป็นล้อขนาดเดียวกับล้อหลัง รับน้ำหนักด้วยโช้ค พร้อมเพิ่มไฟ LEDทั้งด้านหน้า-หลัง โดยในส่วนท้ายคันจะมีการใส่ตระกร้าเหล็ก หรือกระบะ (แล้วแต่เลือก) เพื่อบรรทุกของได้จำนวนมาก ทั้งหมดนี้ราคา 25,000 บาท ใช้เวลาในการประกอบประมาณ 1 สัปดาห์ และสำหรับผู้ที่กังวลว่าหากติดไปแล้วเปลี่ยนใจอยากถอดออกรถจะเสียหายมั้ย ไม่ต้องกังวลเพราะอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งหมดไม่ได้ไปดัดแปลงโครงสร้างเดิมของรถ และสามารถถอดออกได้
ทดสอบขับขี่?
ก่อนที่ทีมงานจะได้ร่วมทดสอบขับขี่ นึกไว้ในใจว่าก็คงไม่ต่างจากตอนเป็นสองล้อ แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะเมื่อลองขึ้นไปนั่ง สิ่งแรกที่ต่างคือไม่ต้องใช้ขาในการทรงตัว แต่แค่วางไว้ที่วางเท้าเฉยๆ และในส่วนของการบังคับจะแปลกออกไป เพราะมีล้อหลัง 3 ล้อ การเลี้ยวและทรงตัวให้อารมณ์คล้ายกับรถยนต์เล็กน้อย คือแน่นขึ้นอย่างชัดเจน แต่บอกได้เลยว่าจุดขายที่คุณเสรีเคลมไว้ว่าปลอดภัย ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริงเพราะระบบเบรก และการเร่งความเร็ว จะไม่ส่ายและหวาดเสียวเหมือนรถจักรยานยนต์แบบเดิม สำหรับประสิทธิภาพที่ลดทอนไปเล็กน้อยคือเรื่องความเร็วออกตัวซึ่งเฉื่อยลงนิดหน่อย เพราะต้องรองรับน้ำหนักที่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้งาน สามารถขับขึ้นเขาป่าตองได้แน่นอน (พี่เสรีบอกก่อนที่เราจะถามเสียอีก) อีกทั้งตัวหลังคาที่น่าจะกันลมกันฝนได้อย่างดี (เสียดายวันที่ไปลองฝนไม่ตกลงมา)
สรุปคือถ้าใครที่อาจจะยังไม่มีกำลังซื้อรถยนต์ หรือเติมน้ำมันครั้งละเป็นพันบาท และอยากสัมผัสความรู้สึกในการขับขี่ที่มันส์ขึ้น และปลอดภัยอย่างแท้จริง ลองติดต่อไปที่คุณเสรี เบอร์ 081 535 9916, 089 470 0270 หรือติดตามตัวอย่างผลงานได้ที่ Facebook : Seree Motoaccess