Arts & Culture

“น้ำตาลปั้น” ขนมเด็กโบราณ

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ขนมในงานวัดที่เด็กจะมีความสุขกับรสชาติ และรูปแบบ คงหนีไม่พ้น “น้ำตาลปั้น” อมยิ้มโบราณที่คนขายจะนั่งปั้นขึ้นรูปด้วยมือ โดยมีไม้เสียบไว้สำหรับถือ ไม่ว่าจะเป็นตัวสัตว์ หรือดอกไม้รูปแบบต่างๆ เช่น ลิงตกปลา นกแก้ว มังกร ไก่ กุหลาบ วึ่งปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่า .. แทบหาไม่ได้

น้ำตาลปั้น

ปัจจุบัน หากพูดถึง “น้ำตาลปั้น” เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก หรืออาจจะไม่เคยเห็นเลย แม้หากเคยเห็น แต่ก็อาจไม่เคยได้ลิ้มรส เพราะสีสันอันสวยสด จากน้ำตาลปั้น ทำให้ผู้ปกครองในสมัยนี้ไม่กล้าซื้อให้ลูกหลาน ได้ลองชิม เนื่องจากกลัวว่าความหวานของน้ำตาลจะทำให้เกิดความอ้วน ทำให้เกิดฟันผุและพิษภัยที่อาจจะปนเปื้อนมากับสีผสมอาหารที่ไม่ได้มาตราฐาน และที่สำคัญ ยังหาซื้อยากอีกด้วย

น้ำตาลปั้น..ทำมาจากน้ำตาลทรายเคี่ยวผสมแบะแซ..ใส่สีผสมอาหาร…ปั้นขึ้นรูปด้วยมือเป็นตัวสัตว์..ผลไม้…ตัวการ์ตูนต่างๆมากมาย…บ้างก็ใช้กดจากแม่พิมพ์รูปต่างๆมีทั้งแบบเป่าลมและไม่เป่าลม

กรรมวิธีในการทำขนมน้ำตาลปั้นอาจเริ่มง่ายๆจากนำน้ำตาลทราย ½ กิโลกรัม..แบะแซ 3 กิโลกรัม..น้ำ 1 แก้ว..ใส่หม้อหรือกะทะเคี่ยวด้วยไฟแรง..พอเดือด..ให้เบาไฟลง..จากนั้นตั้งไฟไว้ให้เดือดจนข้นอีก ½ ชั่วโมง..จากนั้นเทออกใส่ภาชนะที่ถูกแบ่งเป็นช่องๆ..ใส่สีผสมอาหารลงไปช่องละสี..คลุกเคล้าให้สีเข้ากัน..เพียงเท่านี้เราก็จะได้น้ำตาลปั้นสีต่างๆตามที่ต้องการ

น้ำตาลปั้น

เมื่อน้ำตาลปั้น..มีอุณหภูมิเย็นลงก็จะแข็งตัวไม่สามารถนำมาปั้นอะไรได้ ดังนั้นเวลาจะใช้งานจึงต้องนำมาอังไฟให้อุ่น น้ำตาลปั้นก็จะนิ่ม และอ่อนตัว สามารถปั้นขึ้นรูป เป็นตัวอะไรก็ได้

น้ำตาลปั้น คือ ขนมหวานรูปลักษณ์สวยงามสีสันสดใส ทำมาจากน้ำตาลทรายเติมน้ำเคี่ยวผสมแบะแซจนข้นเหนียวแล้วนำมาใส่ภาชนะโลหะที่แบ่งเป็นช่องๆ เติมสีผสมอาหารลงไปช่องละสีแล้วคลุกเคล้าให้ได้สีตามต้องการ ภายใต้ช่องโลหะซึ่งมีน้ำตาลปั้นหลากสีซึ่งยังมิได้ขึ้นรูปอยู่นั้นมีไฟจากเตาคอยอุ่นให้ร้อนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้น้ำตาลปั้นแข็งตัว จนนำมาขึ้นรูปไม่ได้ ขณะที่รอคอยลูกค้าอยู่ เหล่าพ่อค้าแม่ขายน้ำตาลปั้นก็จะเริ่มขึ้นรูปน้ำตาลปั้นไปเรื่อยๆซึ่งหากพ่อค้าแม่ค้าคนใดมีผีมือก็อาจจะขึ้นรูปและลงมือปั้นน้ำตาลปั้นบนไม้เสียบด้วยมือสดๆหากใครฝีมือด้อยลงมาสักหน่อยก็อาจจะใช้แบบพิมพ์สำเร็จรูปมากดๆน้ำตาลปั้นลงไปให้เป็นรูปต่างๆตามแบบพิมพ์ที่มีแล้วเป่าลมเพื่อให้น้ำตาลปั้นแข็งอยู่ตัวได้เร็วขึ้น เสร็จแล้วก็นำมาเสียบแสดงให้เหล่าว่าที่ลูกค้าเห็นถึงความสวยสดงดงามของน้ำตาลปั้นรูปร่างต่างๆไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ ,ผลไม้ ,สัตว์ ,ตัวการ์ตูนหรือแม้แต่คนในอิริยาบถต่างๆ เช่น คนนั่งตกปลา เป็นต้น

น้ำตาลปั้น

น้ำตาลปั้น

รสชาติของน้ำตาลปั้นจะออกหวานอ่อนๆไม่มีกลิ่นที่หอมหวนชวนกินอย่างอมยิ้มฝรั่งซึ่งจะหวานแหลมและมีกลิ่นหอมหลากหลายจากการใส่กลิ่นสังเคราะห์ต่างๆลงไป เมื่ออมน้ำตาลปั้นที่เพิ่งปั้นเสร็จใหม่จะรู้สึกอุ่นๆในปากเนื่องจากมีการคายความร้อนออกจากน้ำตาลปั้นที่กำลังแข็งตัว หากจะให้ชื่อน้ำตาลปั้นว่า “อมยิ้มร้อน”ก็คงไม่น่าเกลียดเท่าไหร่นัก คุณสมบัติที่น้ำตาลปั้นเหนือกว่าอมยิ้มฝรั่งอยู่บ้างในบางข้อนั้นน่าจะอยู่ที่น้ำตาลปั้นละลายช้ากว่าทำให้อมได้นานกว่าและใช้ความละเอียดอ่อนของฝีมือในการปั้นขึ้นรูปมากกว่า

ทุกวันนี้เราไม่อาจพบเห็นแผงลอยขายน้ำตาลปั้นได้อย่างง่ายดายอีกต่อไปแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยใหม่หลายรายซึ่งมีความรู้ความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีความกังวลถึงความสะอาดปลอดภัยในการที่จะซื้อขนมหวานจากน้ำตาลที่มีสีสันฉูดฉาดให้แก่บุตรหลานของตน(แม้แต่ตัวผมเองหากได้พบเจอแผงลอยขายน้ำตาลปั้นก็ยังเลือกที่จะซื้อน้ำตาลปั้นสีขาวซึ่งไม่ใส่สีผสมอาหารที่ดูฉูดฉาดบาดตาครับ) ณ จุดนี้เองได้ส่งผลถึงครอบครัวผู้ค้าน้ำตาลปั้นซึ่งรู้สึกว่ากำไรตอบแทนจากการขายน้ำตาลปั้นนั้นไม่คุ้มค่ากับแรงกาย แรงใจและระยะเวลาซึ่งสูญเสียไปในการประดิดประดอยเจ้าของหวานเสียบไม้อันจ้อยเหล่านี้ ทำให้ครอบครัวลูกหลานของช่างน้ำตาลปั้นต่างๆพากันปิดตัวเองลงไปเรื่อยๆอย่างน่าใจหาย

อนาคตของขนมโบราณ น้ำตาลปั้น อาจจะไร้ผู้สืบสานรอคอยเพียงการที่จะสาบสูญไป

ขอบคุณข้อมูลจากโอเคเนชั่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.