***หมายเหตุ*** ข้อมูลประกอบบทความนี้ ได้มาจากการรวบรวมทางเอกสาร, คำบอกเล่า, และข่าวสาร เราไม่ได้มีเจตนาในการบิดเบือนหรือลบหลู่หลักคำสอนทางศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น
ขอนำเสนอ “ตำนานพ่อตาโต๊ะเเซะ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองภูเก็ต ด้วยเรื่องเล่าความเชื่อ และปาฏิหาริย์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชื่อของพ่อตาโต๊ะแซะ ถูกจารึกว่าคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวภูเก็ตเคารพสักการะ และเป็นที่พึ่งทางใจเสมอมา พ่อตาโต๊ะเเซะ มีทั้งหมด 3 องค์ ได้เเก่ พ่อตาโต๊ะแซะขาว พ่อตาโต๊ะแซะดำ พ่อตาโต๊ะแซะแดง เชื่อกันว่าในอดีต เป็นผู้บุกเบิกตั้งชุมชนในภูเก็ต คือ อิสลามสามพี่น้องที่แล่นเรือไม้มาขึ้นบก แล้วแยกย้ายเอาธัญญาหารหาญต่างๆ ไปปลูกขยายพันธุ์อยู่คนละที่และในที่สุดได้กลายเป็น “โต๊ะ” หรือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ แบ่งเขตคุ้มครองคนละแดน บนเกาะแห่งนี้ โดยมี โต๊ะยา ซึ่ง เป็นเจ้าแม่อยู่หาดสุรินทร์ กมลา ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ต ส่วนโต๊ะแซะ เป็นเจ้าของที่อยู่ในเขตตลาดของอำเภอเมือง และมีศาลให้คนมากราบไหว้ ขณะที่โต๊ะพระแทว น้องสุดท้องดูแลอำเภอถลาง ก็มีศาลอยู่ที่เขาพระแทว
ชาวภูเก็ตได้เล่าสืบต่อกันมาอีกว่า “นายโต๊ะแซ่” เป็นชาวชวา ผู้บำเพ็ญศีลอย่างเคร่งครัด และเดินทางมาธุดงค์ถึงภูเก็ตเมื่อประมาณ 100 ปีเศษมาแล้ว และเลือกยอดเขาโต๊ะแซะเป็นที่อยู่จำศีลภาวนา ผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นนายโต๊ะแซ่ในระยะห่าง เข้าใจว่าเป็นเทพจึงเล่าต่อกันมา และมีบ่อน้ำบนยอดเขาที่ประชาชนนับถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงนำไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จนเป็นที่ร่ำลือกันว่า “โต๊ะแซ่” เป็นผู้มีวิเศษ มีวิชาอาคม สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก ต่อมาเขาได้หายสาบสูญไป แต่ชื่อเสียงยังคงอยู่ จนชาวบ้านตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาโต๊ะแซ่ ต่อมาชื่อนี้ได้เพี้ยนเป็น “โต๊ะแซะ” จนถึงทุกวันนี้
เมื่อสิ่งที่เราเคารพบูชานั้นมีความเป็นนามธรรม จึงต้องทำการสร้างความเป็นรูปธรรม ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส ทำให้เกิดการสร้าง ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะ ขึ้นมาด้วยความศรัทธา ศาลแรก ดั้งเดิมตั้งอยู่บนถนนสุทัศน์ ตรงข้ามกับวัดแขก ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อของโต๊ะแซะ โดยมีพญางูตั้งอยู่เคียงข้าง ศาลดังกล่าว มีขนาดเล็กและผู้คนที่ไปสักการะก็มีไม่มาก เมื่อเทียบกับศาลใหม่บนเชิงเขาโต๊ะแซะ ซึ่งภายในศาลนอกจากจะมีรูปหล่อของโต๊ะแซะขาวแล้ว ยังมีโต๊ะแซะดำ และโต๊ะแซะแดงอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะจะมีงานเซ่นบวงสรวงในเดือน 6 เป็นประจำทุกปี โดยมีการ ประทับทรงและเซ่นไหว้ เครื่องเซ่นของเจ้าพ่อฯ ประกอบด้วยพริกแดง 9 ดอก หมากพลู 9 คำ ยาเส้นใบจาก 3 ห่อ ดอกไม้ 3 กำ พวงมาลัย (ดอกไม้สีเดียว) 3 พวง ผลไม้ ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวเหลืองพร้อมไก่ปิ้ง เหล้า ส่วยเนื้อหมูห้ามนำเข้าศาลเด็ดขาด คนในตัวเมืองภูเก็ตบางคนยังคงศรัทธาโต๊ะแซะ ถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย หากมีเรื่องทุกข์ร้อน และบนบานสำเร็จลุล่วงไปได้ ก็จะถวายพริก 2-3 หาบ และไข่ไก่ 100 ฟอง โดยนำพริกแดงมาร้อยที่ก้านธูปหรือทางมะพร้าว ทำทีว่าเป็นหาบ ส่วนไข่ก็นำมา ร้อยเชือกเป็นเคล็ดว่าร้อยฟอง
เหตุการณ์ปาฏิหาริย์ ที่เชื่อว่าเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของ พ่อตาโต๊ะเเซะ เเละเป็นข่าวโด่งดังก็คือ การรอดชีวิตของชายชาวประมงคนหนึ่ง ที่ได้ถูกคลื่นพัดไปติดเกาะร้าง หลังจากเขาได้ออกเดินเรือไปผจญกับพายุ สภาพร่างกายของเขาบอบช้ำจากการกระแทกกับก้อนหิน ไม่สามารถที่จะเดินไปไหนได้ ต้องอาศัยนอนอยู่ในป่าบนเกาะ บริเวณที่อาศัย นั้นมีสัตว์ป่า นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นงู สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ และไม่ได้กินอะไรเป็นอาหารเลยเป็นเวลา 5 วัน กินเพียงน้ำที่ไหลออกมาจากซอกหินเท่านั้น เขาคิดว่า คงหมดหวังที่จะได้กลับ หากยังไม่มีใครช่วยเหลือก็จะกระโดดหน้าผาเพื่อฆ่าตัวตาย ก่อนที่ความหวังจะหมดสิ้น เขาก็ได้บนพ่อตาโต๊ะแซะ ซึ่งเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนภูเก็ตเคารพนับถือขอให้รอดชีวิตกลับมา เพื่อดูแลครอบครัว ในที่สุดหน่วยเรือตำรวจน้ำภูเก็ต ได้พากันมาช่วยเขาได้ ทั้งๆ ที่เกาะร้างนี้ ไม่ได้อยู่ในแผนที่เลย แต่ก็สามารถหาเขาจนพบ เมื่อขึ้นฝั่งได้ ตัวเขาก็รีบไปกราบเเก้บนพ่อตาโต๊ะแซะทั้งสามองค์
สถานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงอยู่ได้ด้วยแรงศรัทธา จากผู้ที่เคารพสักการะ ภาพผู้คนที่แวะเวียนมาถวายเครื่องเซ่นไหว้ และสวดอธิษฐานร้องขอสิ่งที่ตนเองต้องการ แล้วลาจากไปด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังจากศาลเจ้าพ่อตาโต๊ะแซะ เป็นภาพที่คุ้นชินของชาวภูเก็ต มายาวนานและไม่มีทีท่าว่าจะแปรเปลี่ยนไปจากนี้ สภาพสังคมในลักษณะที่ไม่พยายามตั้งคำถามกับความ “เคลือบแคลง” แต่เลือกที่จะศรัทธาด้วย “ความเชื่อ” เช่นนี้ คงเป็นอีกรูปแบบของวัฒนธรรมที่เวลาเท่านั้น จะสามารถจำกัดความหมายได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางจิตใจเสมอมา