People

“สัญธาร สงวนงาม” เปิดชีวิตอาสากู้ชีพนักสู้ หน่วยกู้ภัย…กับเสียงเต้นของหัวใจ

กุศลธรรม

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนเคยมีคนกล่าวไว้เช่นนั้น ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกเสี้ยววินาทีข้างหน้า การได้รับความช่วยเหลือเมื่อได้รับความเดือดร้อน มันแสดงถึงความมีน้ำใจ ความเสียสละ ต่อผู้ที่ทำการช่วยเหลือ ให้ความเดือดร้อนนั้น ได้รับการบรรเทา ผู้เดือดร้อนปลอดภัย ได้รับการบรรเทา ผู้ทำหน้าที่บรรเทาก็สุขใจ ภาคภูมิใจ 

เมื่อพูดถึง “อาสาสมัครกู้ภัย” คืออะไร ?? นั่นก็คือ  คำที่ใช้เรียกกลุ่มคนผู้มีความเสียสละทั้งทางกายและทางใจ เพื่ออุทิศให้แก่สังคมและเพื่อนร่วมโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงชนชั้น วรรณะ เชื้อชาติ หรือศาสนา และเป็นผู้ซึ่งยอมเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

     นายสัญธาร สงวนงาม หรือพี่ธาร หัวหน้าอาสาสมัครกู้ภัยกุศลธรรมภูเก็ต ปัจจุบันทำอาชีพประจำคืออาชีพค้าขาย มีใจรักในการเป็นอาสามัครกู้ภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยปฏิบัติหน้าที่มาตลอด 22 ปี ตั้งแต่ปี 2536 และเป็นคนแรกของมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต โดยใช้เวลาว่างหลังจากค้าขายเสร็จมาปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย และต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัวอีกด้วย

พี่ธาร กู้ภัยกุศลธรรม
นายสัญธาร สงวนงาม หัวหน้าอาสาสมัครกู้ภัยกุศลธรรมภูเก็ต

กว่าจะเป็นอาสาสมัคร อันดับแรกต้องเริ่มจากอะไร ?
      “สิ่งแรกที่ต้องมี เลย คือ “ใจ” ต้องใจรัก  การได้ทำอาชีพหน่วยกู้ภัย ถึงแม้ไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าตอบแทน แต่ทุกคนก็ได้บุญได้กุศล นอกจากนั้นยังได้มิตรสหาย   ที่ได้รู้จักกันทางวิทยุสื่อสารบ้าง ระหว่างปฏิบัติงานขอความช่วยเหลือ ระหว่างกันบ้าง เป็นสิ่งตอบแทน การที่ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนรายเดือน ไม่ได้เป็นอุปสรรค บั่นทอนความตั้งใจจริงต่อการเป็นสมาชิกหน่วยกู้ภัยแม้แต่น้อย นับวันสมาชิกหน่วยกู้ภัยจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้าน  ต่างตระหนักในจุดนี้ดี

การมอบเงินเป็นค่าน้ำใจในการปฏิบัติงานแต่ละ  ครั้งที่หน่วยกู้ภัยไม่ได้เอ่ยปากขอ ได้ถูกรวบรวมมาเป็นเงินเบี้ยเลี้ยง ไว้เพื่อซื้ออุปกรณ์ เป็นค่าน้ำมัน และเป็นเงินสมทบทุนในการบริจาคช่วยเหลือองค์กรและหน่วยงานต่างๆ”

การพึ่งพาอาศัยกันและกันของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เป็นไปด้วยดี ย่อม  ทำให้ทุกชีวิตดำเนินไปอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับหน่วยงานหนึ่งที่  เกื้อกูลคนในสังคม “หน่วยกู้ภัย” ที่ปฏิบัติงานพร้อมกับเสียงเต้นของ  หัวใจที่ ไม่เคยเป็นปกติซักครั้ง

หน้าที่ของอาสาสมัครกู้ภัย นอกจากต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง ?
      “หน้าที่ของอาสาสมัครกู้ภัยมีหลายอย่างเช่น การออกตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีต่างๆ การเดินทางไปตามต่างจังหวัด ชนบท หรือถิ่นทุรกันดาร เพื่อนำข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ประสบภัยทางธรรมชาติ ซึ่งการปลอบโยนผู้ที่เสียขวัญจากสิ่งที่ได้พบเจอก็นับเป็นหน้าที่หนึ่งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าที่ ที่สำคัญอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถรวมถึงการขวนขวายหาความรู้ของอาสาสมัครกู้ภัยเองด้วย สิ่งนั้นก็คือการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการกู้ภัยในรูปแบบต่างๆ”

พี่ธาร กู้ภัยกุศลธรรม

มีส่วนช่วยทางโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน ?
       “หน่วยกู้ภัยช่วยทางโรงพยาบาลได้มาก ในเรื่องบรรเทาความเจ็บปวดแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ การส่งผู้ได้รับบาดเจ็บถึงโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสมีโอกาสรอดมากขึ้น ทั้งยังเป็นผู้ที่คอยช่วยเกลี่ยกล่อมผู้ได้รับบาดเจ็บให้รับการรักษา หน่วยกู้ภัยจึงเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลืองานทางโรงพยาบาลได้ไม่น้อย”

เคยมีข่าวแง่ลบเกี่ยวกับกู้ภัยว่า ทำไมขับเร็ว แข่งกันซิ่งหรือเปล่า บางครั้งไม่ได้เกิดเหตุอะไร เปิดไซเรนเล่นๆหรือเปล่า ?
       “การทำงานแข่งกับนาทีชีวิต ของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ถึงแม้ว่าการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยนั้นจะเกิดจากความสมัครใจของผู้ที่ทำก็ตาม แต่ทุกคนก็ยังคงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานนั้นๆอย่างเคร่งครัดด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นอาสาสมัครกู้ภัยแล้วจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้แก่อาสาสมัครกู้ภัยทุกๆคน และรถยนต์ของมูลนิธิฯ ทุกคัน มีระบบ GPS จะวิ่งได้เฉพาะเมื่อเกิดเท่านั้น มีการออนไลน์ระบบในจอคอมพิวเตอร์ทางศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง”

ปัจจุบันมีอาสาสมัครทั้งหมดกี่กำลังพล ? ส่วนใหญ่เข้ามาได้อย่างไร ? และถ้ามีผู้สนใจหรือเยาวชนที่ต้องจะเป็นอาสาสมัคร ต้องทำอย่างไร ?
        “ปัจจุบันมีทั้งหมด 400 คน ทั้งชายและหญิง โดยส่วนใหญ่ มีทั้งที่เพื่อนชักชวนบ้างก็ญาติพี่น้องแนะนำเพื่อให้ลองทำดู  เพราะเห็นว่าได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้บุญกุศล ประกอบกับมันเป็นงานที่ท้าทายอย่างหนึ่ง ทั้งความสามารถและการควบคุมตนเอง ทั้งในส่วนของร่างกายและจิตใจ เหตุนี้ทำให้เดินเข้ามาสู่อาชีพหน่วยกู้ภัยด้วยตัวเองก็มีมาก ส่วนเยาวชน ถ้ามีอายุต่ำกว่า 16 ปี จะต้องมีผู้ปกครองยินยอมก่อน นอกนั้นก็รับหมด 60 ปีก็ยังมี และมูลนิธิฯยังมีอาสาสมัครต่างชาติอีกด้วย เข้ามาเพราะใจรัก”

พี่ธาร กู้ภัยกุศลธรรม

มูลนิธิได้รับรางวัลอะไรบ้าง?
      “ล่าสุดที่ผ่านมาก็เพิ่งได้รับรางวัล EMS แรลลี่ระดับชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของภูเก็ตที่ได้รับรางวัลนี้ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นมูลนิธิดีเด่น ภาคที่ 11 ”

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายภายในมูลนิธิฯได้มาอย่างไร ? ใครสนับสนุน ?
     “ในเรื่องของค่าใช้จ่าย เช่นค่าน้ำมันรถ ทางมูลนิธิฯใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมันรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 4 แสนบาท ถูกหลอกไปซะ 150,000 บาท ถูกหลอกที่ว่านี้คือ เมื่อเราได้รับการแจ้งเหตุ ทางมูลนิธิฯก็รีบไป แต่เมื่อไปถึงกลับไม่มีอะไร ! และในส่วนของรถ เช่น รถเกิดอุบัติเหตุ เสียหาย ก็ต้องซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป รถยนต์พยาบาลคันละประมาณ 2 ล้าน เราจะให้ความสำคัญในส่วนตรงนี้ เพราะมันคือชีวิตของประชาชน ถ้าอุปกรณ์ไม่มาตรฐานพอ นั่นก็หมายถึงชีวิตหนึ่งชีวิตที่ต้องเสี่ยง เราต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนเงินนั้นมาจากไหน ? ก็มาจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค เราไม่กำหนดว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ กี่บาท 50 บาทเราก็รับ แล้วแต่จิตศรัทธาของแต่ละคน”

พี่ธาร กู้ภัยกุศลธรรม

พี่ธาร กู้ภัยกุศลธรรม

 “อาสาสมัครกู้ภัยคือผู้ที่มีความเสียสละปฏิบัติตนต่อผู้อื่นเสมือนเป็นญาติของตนเป็นผู้ซึ่งพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอและให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วยความเสมอภาค โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆจึงถือได้ว่าอาสาสมัครกู้ภัยเป็นกำลังสำคัญของสังคมในปัจจุบันไปเสียแล้ว กุศลธรรม อยู่ได้ เพราะ ประชาชน”

 

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kusoldharmphuket.com

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.