สักการะพระผุดที่วัดพระทอง
Arts & Culture Featured

สักการะพระผุดที่วัดพระทอง

วัดพระทอง เป็นหนึ่งในวัดเก่าเเก่ประจำจังหวัดภูเก็ต มีเรื่องเล่าขานเเละประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ขององค์พระผุด เป็นองค์พระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงยอดพระเกตุมาลา พระผุดองค์จริงจะอยู่ภายในองค์พระผุดจำลองที่สร้างครอบอีกที คนจีนเชื่อกันว่าพระผุดท่านมาจากเมืองจีนมาโผล่ที่ภูเก็ต คนจีนในภูเก็ต พังงา และกระบี่ ต่างเคารพนับถือพระผุดมากเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ก็จะพากันมานมัสการ ในสมัยก่อนช่วงเวลากินเจ พระอ๊ามท่าเรือก็จะมีขบวนแห่จากท่าเรือมานมัสการพระทองด้วย ประชาชนทั่วไปเชื่อกันว่าการมากราบไหว้พระที่วัดนี้ จะทำให้สิ่งที่ขอสมปรารถนา อีกทั้งชื่อวัดยังมีความหมายดี เวลาขึ้นบ้านใหม่มักนำพระทองจำลองเข้าบ้านด้วย

องค์จำลองสำหรับปิดทอง พระผุดถูกครอบอยู่ในองค์พระใหญ่ด้านหลัง
คนจีนมาเยอะต้องมีที่เผากระดาษทอง (กิ้ม)

ประวัติความเป็นมา ไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนๆ เล่ากันมาว่าเมื่อแรกที่พบ “พระผุด” นั้นได้เกิดพายุฝนตกหนักมาก พอฝนหยุดตกก็ได้มีเด็กชายลูกชาวนาคนหนึ่ง จูงควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง ต้องการหาที่ผูกเชือกสำหรับเลี้ยงควาย สักพักเขาเห็นหลักโผล่มากลางทุ่ง เลยนำเชือกคล้องควายไปผูกไว้ ตามเรื่องเล่ามีสองอย่างคือ เรื่องแรกเด็กชายและควายโดนน้ำฟ้าผ่าตายตั้งแต่ตอนนั้น และอีกเรื่องคือ เด็กชายกลับมาบ้านพอเด็กถึงบ้าน เด็กชายคนนั้นก็เกิดอาการเป็นลมล้มชักเสียชีวิต ในตอนเช้าอีกวันพ่อแม่ก็จัดการกับศพเด็กแล้วออกไปดูควายที่ผูกไว้ พอไปถึงที่ที่เด็กผูกควายไว้ก็เห็นควายนอนตายอยู่ ตกดึกคืนนั้น…พ่อของเด็กชายที่ตายก็ฝัน ว่ามีคนมาบอกว่า ที่เด็กและควายต้องตายนั้นเป็นเพราะ เด็กได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอตกใจตื่นรุ่งเช้าก็ชวน เพื่อนบ้านให้ไปยังที่ริมคลองที่เด็กนำควายไปผูกไว้ ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จนกระทั่งสามารถ เห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเหลืองอร่ามเป็นทองคำ ชาวบ้านจึงแตกตื่นพากันมา กราบไหว้บูชาสักการะกันเป็นจำนวนมาก และยังชักชวนกันไปบอกให้เจ้าเมืองทราบ เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานบนดิน แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถขุดได้เพราะมีตัวต่อตัวแตนจำนวนมาก บินมาอาละวาดไล่ต่อยผู้คนที่ขุด

สงบ ร่มเย็น
วันๆ นึงมีเยอะมาก ต้องร่วมใจกันรีไซเคิล

ต่อมาได้มีพระธุดงค์ ทราบภาพหลังว่าคือ “หลวงพ่อสิงห์” จากการประทับทรงเพื่อปลุกเสกหลวงพ่อพระทอง เมื่อ พ.ศ. 2511 ว่าท่านได้มาสร้างวัดที่นี่ เพื่อเป็นการรักษาพระผุดเอาไว้ ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวถลางสืบต่อไป วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าวโดยมี “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างกุฏิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยมีหลวงพ่อพระผุดเป็นประธานในพระอุโบสถ แล้วก่อสวมให้สูงขึ้นเพื่อสะดวกแก่ กิจกรรมของสงฆ์ เล่ากันว่าการก่อสวมสมัยนั้นก่อเพียงแต่พระพักตร์เท่านั้น วัดนี้เมื่อแรกสร้างเสร็จชาวบ้านเรียกว่าวัดนาใน เนื่องจากสถานที่ตั้งของวัด เดิมเป็นทุ่งกว้างมีน้ำจากน้ำตกโตนไทรเทือกเขาพระแทวไหลผ่าน ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งนาใน” ซึ่งต่อมาได้มีบ้านคนอยู่อาศัยที่ทุ่งนาในมากขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนาใน” จนถึงทุกวันนี้

สงสัยมีเยอะ
นี่มันในวัดนะจ๊ะ

กาลต่อมาวัดพระทองได้ชื่อว่าเป็นวัดกินสมภาร เนื่องจากเจ้าอาวาสรูปต่อๆ มาถึง 14 รูปอยู่ที่วัดนี้ได้ไม่เกิน 1 พรรษาก็มีเหตุต่างๆ ไม่สามารถอยู่ต่อได้ บางรูปก็มีอันเป็นไป ด้วยว่าไม่สามารถแก้ปริศนาในกาลก่อน ที่หลวงพ่อสิงห์ได้ทิ้งเอาไว้ได้ “ยัก 3 ยัก หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดสบ ให้เอาที่กบปากแดง ผู้ใดคิดแจ้งให้เอาที่แร้งล่อคอ” ทำให้วัดนี้ถูกทิ้งร้างไม่มีพระภิกษุมาจำพรรษาจนปี พ.ศ.2440 พระครูวิตถานสมณวัตร์(ฝรั่ง) พระภิกษุจากวัดพระนางสร้าง ได้ตีโจทย์ปริศนาแตกจึงบูรณะวัดพระผุดขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ถึง 61 พรรษา จนมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2501

คำปริศนาและความหมายที่แก้ได้ 3 ยัก 4 ยัก คือ การห้ามเกี้ยวรอบพระอุโบสถ หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตลบ คือ การนำไม้จันทน์ ไม้จวงสดมาเผาไฟ จนมีควันหอมตลบ หอมฟุ้งไปทั้งวัด ผู้ใดคิดสบ ให้เอาที่กบปากแดง คือ ผู้ใดคิดได้ให้ไปปัวะโป้ย (ไม้เสี่ยงทายสีแดง) แล้วของพรจากหลวงพ่อพระทอง ผู้ใดคิดแจ้ง ให้เอาจากแร้งล่อคอ คือ ผู้ใดแก้ได้ให้ถามความจากเซียมซี (พูดถึงเรื่องปริศนานึกถึงเรื่องบ่อคันไว้ข้อมูลครบจะมาเล่าให้ฟังกันนะคะ ^^)

สาธุ สาธุ

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในขณะนั้น ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6 ในรัชกาลต่อมา) พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระผุด พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง” ต่อจากนั้นรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”

ลายพระหัตถ์ ภ.ป.ร. เหนือประตูทางเข้าวิหาร

และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรวัดพระทอง พร้อมทั้งพระราชทานลายพระหัตถ์ โดยย่อว่า ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าพระวิหารหลวงพ่อพระทอง

มณฑปอดีตเจ้าอาวาสวัดพระทอง
มณฑปอดีตเจ้าอาวาสวัดพระทอง มีข้อมูล รูปถ่าย รูปหล่อของท่านเจ้าอาวาส
วัว หมี และตัวสัตว์อื่นๆ พ่อเคยเล่าว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ

ภายในวิหารพระทอง นอกจากจะมีพระทองเป็นประทานแล้ว ยังล้อมรอบไปด้วยพระประจำวันทั้ง 8 และปางพระเกตุ … ใช่แล้ว ทั้ง 8 จริงๆ เพราะวันพุธแยกเป็นพุธกลางวันและพุธกลางคืน ดังนั้นเมื่อมาไหว้พระทองแล้ว เรายังสามารถไหว้พระประจำวันได้อีกด้วย เรียกว่ามาที่เดียวครบ

พระประจำวันอาทิตย์ – ปางถวายเนตร
พุทธคุณของพระปางถวายเนตร (ด้านบนกล่องมีปางนาคปรกอยู่ด้วยอย่าสับสนนา)
พระประจำวันอังคาร – ปางไสยาสน์
พระประจำของผู้ที่ไม่ทราบวันเกิด – ปางพระเกตุ

นอกจากนี้ในบริเวณวัดพระทองยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง” อันเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต ที่ชาวบ้านนำมาบริจาค เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีน ที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น เตียงจีนสมัยโบราณ และของเก่าอีกมากมาย จัดสร้างและรวบรวมโบราณวัตถุโดย พระครูสุวรรณพุทธาภิบาล (สุขุม อิสิญาโณ) อดีตเจ้าอาวาส วัดพระทอง เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันแต่มีบางช่วงที่ปิดปรับปรุง

พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง

วัดพระทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางจากสะพานเทพกระษัตรี ประมาณ 23 กม. อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 19-20 หากมาจากตัวเมืองภูเก็ตมีระยะทาง ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กม. จากแยกน้ำตกโตนไทร หรือแยกบ้านเคียนเลยที่ว่าการอำเภอถลางไปเล็กน้อย จะมีทางแยกขวามือเข้าวัดพระทอง

***ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงเรื่องปริศนาวัดพระทอง จาก ยงยุทธ วรรณโกวิท (2554) “ปริศนาของวัดพระทอง(พระผุด)”

เรื่อง: ฟ้าสวย
ภาพ: Au Siri

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.