คุณธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ เลขาธิการของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
Featured People

คุณธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ เลขาธิการของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

คุณธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน โครงการคืนชะนีสู่ป่า ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยโครงการนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถือได้ว่าเป็นเป็นโครงการแรกของโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เพื่อฟื้นฟู และปล่อยให้ชะนีกลับไปใช้ชีวิตในป่าตามเดิม วันนี้ทีมงาน Phuketindex.com ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณธนพัฒน์ หรือคุณปั๊ม และได้รับแนวคิดดีๆ มากมายที่อยากจะแบ่งปันให้คุณผู้อ่านได้รับทราบเช่นกัน

คุณคิดว่าโครงการคืนชะนีสู่ป่าจะมีผลต่อชุมชนของเราอย่างไรบ้าง

โครงการคืนชะนีสู่ป่าที่ภูเก็ต เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก เพราะเราสามารถช่วยเหลือให้ชะนีสามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าดิบชื้นแห่งสุดท้ายของภูเก็ต ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของชะนีที่ได้สูญพันธ์ไปแล้วกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

เราพิสูจน์ให้ชุมชนได้เห็นแล้วว่า เราสามารถนำธรรมชาติที่มนุษย์ได้เอาออกไป กลับมาสู่ป่าได้อย่างไร เห็นได้จากผู้คนมากมาย และเด็กๆ ต่าง ก็เริ่มสนใจในสิ่งที่เราทำ อีกทั้งการคืนชะนีกลับสู่ระบบนิเวศเดิมได้นั้น ยังช่วยทำให้ป่าดิบชื้นผืนสุดท้ายของภูเก็ตอุดมสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย

ช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานของคุณให้ฟังหน่อย

ผมมีหน้าที่ดูแลหลายโครงการครับ รวมไปถึงโครงการดูแลชะนีในไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น งานนี้เป็นงานที่ผมทำด้วยใจรัก และต้องการทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณแม่ ว่าจะดูแลเพื่อนๆ ในป่าของผมให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ ดังนั้นธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นเพียงแค่ส่วนในการหารายได้เลี้ยงชีพเท่านั้น และผมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินจากการบริจาค เพราะฉะนั้น คุณมั่นใจได้เลยว่าเงินทุกบาทที่บริจาคให้กับเรา จะส่งตรงไปช่วยเหลือสัตว์ป่าและชะนีอย่างแน่นอน

อะไรที่ทำให้คุณก้าวเข้ามาทำงานในโครงการคืนชะนีสู่ป่า

ผมค่อนข้างโชคดีครับ ที่ได้ทำงานด้านนี้ต่อจากคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ของผมท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา ผมจำได้ดีว่าตอนเด็กๆ หลังบ้านผมมีชะนีกว่า 70 ตัว รวมไปถึงเสือและหมี ที่คุณแม่และเพื่อนทำงานร่วมกันกับกรมป่าไม้ ในการช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นผมจึงเติบโตมาพร้อมๆกับสัตว์ป่าพวกนี้ ผมจึงผูกพัน และไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นแค่สัตว์ป่า แต่เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวผมต่างหาก

อะไรที่ทำให้ทีมงานโครงการคืนชะนีสู่ป่ามาทำงานร่วมกัน

หัวใจของการทำงานร่วมกัน คือ ต้องทำงานแบบครอบครัวมากกว่าแบบนักธุรกิจ เรามีความเท่าเทียมกัน เรากินด้วยกัน ทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าไปทำงานในป่าด้วยกัน เราจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่ในป่า สิ่งที่รวมพวกเราไว้ คือ เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำงานเพื่อส่งชะนีสู่ป่า ไม่ใช่ทำงานเพื่อตัวเอง เราจึงมีทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมาจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เพราะทุกคนมีความตั้งใจที่จะส่งคืนชะนีสู่ป่าเหมือนๆ กัน

คุณรู้ได้อย่างไรว่ามีชะนีต้องการความช่วยเหลือ

ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวหลายคนก็อยากมาดูชีวิตสัตว์ในภูเก็ต โดยเฉพาะชะนี ซึ่งมันเป็นเป็นเรื่องไม่ดีมากๆ เพราะเบื้องหลังของธุรกิจเหล่านั้น พวกเขาเข้าป่าและยิงครอบครัวของชะนีตัวอื่นๆ เพียงเพื่อจับแม่และลูกชะนีมาให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งหากลองดูทั่วในภูเก็ต จะมีธุรกิจผิดกฏหมายแบบนี้อยู่เยอะเลย เราก็จะไปช่วยเหลือชะนีเหล่านั้น และนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสุขภาพ ก่อนจะนำไปฝึกเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในป่าได้

ชะนีและมนุษย์มีความคล้ายคลึงกันมาก เกือบจะร้อยเปอร์เซ็น ชะนีที่เคยถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ จึงมีโอกาสติดโรคมาจากมนุษย์ได้ ซึ่งประมาณ 70% ของชะนีที่ถูกเลี้ยงไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยพวกมันกลับสู่ป่าได้ เพราะเราไม่สามารถปล่อยชะนีที่เป็นโรคติดต่อคืนสู่ธรรมชาติได้

ชะนีที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนอย่างไร

เมื่อเราได้รับอนุญาตให้นำตัวชะนีกลับมา สิ่งแรกคือเราจะต้องตรวจสุขภาพทั้งหมดของเค้า ตรวจหาโรคติดต่อต่างๆ โรคไวรัสตับอักเสบเอและบี HIVวัณโรค งูสวัสดิ์ และ พิษสุนัขบ้า หากผ่านการตรวจสุขภาพ เราก็จะพยายามจับคู่ให้พวกเค้า เพื่อสร้างครอบครัวต่อไป

เราต้องทำให้ชะนีสร้างครอบครัวก่อน ก่อนที่จะปล่อยสู่ป่า แต่การจะทำให้พวกเค้าผสมพันธุ์กันได้ เป็นงานที่ท้าทายมากครับ เพราะเราไม่สามารถจับชะนีตัวผู้กับตัวเมียมาไว้กรงเดียวกันได้ พวกเค้าก็เหมือนคนครับ เลือกคู่ครองของตัวเอง ถ้าเราไปบังคับเค้าก็จะกัดกัน เราจึงต้องแยกกรงระหว่างชะนีตัวผู้และตัวเมีย และใช้วิธีสังเกตการณ์เอาครับ ว่าตัวไหนเริ่มชอบกันบ้าง พอรู้ว่ามีคู่ที่เริ่มชอบกัน เราจะจับให้มาอยู่ใกล้กันเรื่อยๆ จนถึงขั้นตอนผสมพันธุ์กัน หลังจากนั้นเราก็จะพาไปอยู่ในกรงที่อยู่ในป่าลึก

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว กรงใหม่จะอยู่ในป่าที่มีอาหารพร้อม มีทุกอย่างที่เอื้อต่อชะนี หลังจากนั้นราว 3 เดือน เราจะเปิดกรง ซึ่งโดยปกติเค้าจะไม่ยอมออกนอกกรงทันที เพราะเค้าจะรู้สึกว่าพื้นที่ในกรงปลอดภัยเหมือนบ้าน แต่ก็จะเข้าๆ ออกๆ เรื่อยๆ เราก็จะเปิดกรงทิ้งไว้สักสัปดาห์ หลังจากนั้นก็ปิดกรง ซึ่งนับจากนี้ เราจะต้องดูแลเค้าอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเค้าจะไปที่ไหนในป่า เราก็ต้องไปด้วย ไม่ว่าเค้าจะนอนตรงไหน เราก็ต้องนอนตรงนั้นด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า เค้าจะมีชีวิตรอดต่อไปในป่าได้

สามารถสนับสนุนโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

ทางที่ง่ายที่สุดที่จะสนับสนุนเรา ก็คือการไม่สนับสนุนธุรกิจถ่ายรูปกับสัตว์อย่างผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นในไทยที่หรือใดในโลก ถ้าคุณเห็นคนอุ้มชะนีหรือสัตว์ป่าเพื่อถ่ายรูป อย่าถ่ายรูปกับเค้า เพราะชะนีที่คุณเห็นตามถนนนั้น ต้องแลกมาด้วยชีวิตของชะนีอีกเป็นสิบตัวที่ต้องถูกฆ่า และม้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะช่วยเหลือเค้าให้กลับคืนสู่ป่าได้ ชะนีกลุ่มแรกที่เราได้ส่งคืนป่านั้น เราต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี ในการฝึกให้เคยชินกับป่า ถึงจะปล่อยคืนสู่ป่าได้ อีกทางหนึ่ง คือ การบริจาค หรือรับอุปการะชะนีที่เราได้ช่วยเหลือมา

สุดท้ายนี้ คุณคาดหวังว่าอนาคตเผ่าพันธุ์ชะนีจะเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เราสามารถคืนชะนีสู่ป่าดิบชื้นผืนสุดท้ายของภูเก็ตได้หลายตัว เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ตอนนี้บนเขาพระแทวมีชะนี 32 ตัวแล้ว แต่อย่างที่คุณเห็น ยังมีชะนีอีกหลายตัวที่ไม่สามารถนำคืนสู่ป่าได้ในตอนนี้ เนื่องจากพวกเค้าเป็นโรค สิ่งที่เราอยากเห็นในอนาคต ก็คงเป็นหนทางในการกำจัดโรคเหล่านี้ให้หมดไป ชะนีพวกนี้จะได้ปราศจากโรค และสามารถกลับไปห้อยโหนอยู่ในป่าได้ตามเดิม

นอกจากนี้ในเดือนหน้า (มีนาคม 2562) ที่โครงการคืนชะนีสู่ป่า เราจะมีกิจกรรมใหม่เกิดขึ้น คือการนำผู้เข้าชมไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงชะนี การปรับเปลี่ยนอาหารของชะนี จากเดิมเลี้ยงแบบสัตว์เลี้ยง ให้กลายเป็นหาอาหารในป่าได้ ดูขั้นตอนการให้อาหารและระบบในการให้อาหาร วิเคราะห์กริยาอาการของชะนีอย่างใกล้ชิดในป่า เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่ควรพลาดเลยที่เดียว ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโครงการได้ทางเว็บไซต์ www.gibbonproject.org

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.